สวัสดีครับ
ในฐานะที่เรียนจบและทำงานแล้ว ผมมักได้ยินคนที่ทำงานด้วยกันพูดเสมอว่า ภาษาอังกฤษที่ร่ำเรียนมา ถ้างานที่ทำไม่มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษ ไม่นานก็ลืม และถ้าลืมไปนานเพียงใด ความยากที่จะรื้อฟื้นก็มากเพียงนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ จะมากะเกณฑ์ให้ฉันเก่งภาษาอังกฤษได้ยังไง?
การพูดเช่นนี้เหมือนกับโยนความผิดไปให้งาน เพราะงานทำให้เราไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เราก็เลยลืมมัน ฟังดูก็เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น แต่ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะว่า โลกทุกวันนี้แคบลง การติดต่อด้วยภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติมีมากขึ้น และแม้ว่าเราจะไม่ได้ติดต่อทุกวัน หรือนาน ๆ จะติดต่อสักครั้ง เมื่อถึงเวลาที่ต้องติดต่อ ไม่ว่าเราจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง มันก็จำเป็นที่เราต้องสามารถสื่อสารกับเขาให้ได้ สมัยก่อน ๆ ในหน่วยงานอาจจะมีหน่วยงานเฉพาะที่ติดต่อกับต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าทุกแผนกต้องมีเจ้าหน้าที่ของตัวเองอย่างน้อย 1 หรือ 2 คนที่พูดภาษาอังกฤษได้
และเมื่อย้อนกลับไปคำถามเก่า คือ ในเมื่อเราไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน ทำอย่างไรเราจึงจะมีทักษะภาษาอังกฤษให้เพียงพอต่อการใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งก็ยากอยู่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกับเราซื้อมีดมา 1 เล่ม ถ้าไม่มีงานให้ใช้ก็เก็บไว้ พอถึงเวลาต้องใช้ก็ดึงออกมาใช้ได้ทันที แต่ทักษะภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ใช้มัน – มันจะค่อย ๆ หายไป
เพราะฉะนั้น ในเมื่อคำตอบคือ...ใช้ภาษาอังกฤษทุกวัน เราจะใช้ยังไง?
ผมขอให้ท่านมองอย่างนี้ครับ ตอนที่เราเรียนหนังสือ เราเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชา ๆ ไป แต่ตอนที่เราทำงาน งาน 1 ชิ้นอาจจะต้องดึงทักษะจากหลายวิชาที่เราเคยเรียนมา เช่น ถ้าต้องเขียนจดหมายภาษาอังกฤษ ก็ต้องรู้ทั้งเรื่องแกรมมาร์ การใช้ศัพท์ และสไตล์การเขียนจดหมายธุรกิจ ถ้าต้องพูดในที่ประชุมกับชาวต่างชาติ ก็ต้องมีทักษะด้านการฟังและการพูด เป็นต้น
ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนบล็อกนี้คงจะสังเกตได้ว่า ผมมักจะแนะว่า ในแต่ละวันให้ทำอะไรก็ได้ที่ช่วยให้เราได้ใช้ภาษาอังกฤษบ้าง เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ, เล่นเกม Crossword, Scrabble หรือ Hangman, มีนิทานหรือนิยายง่าย ๆ พกติดตัวไว้ สามารถหยิบขึ้นมาอ่านเมื่อนั่งรอหรือยืนรอ, ฟังไฟล์ mp3 ภาษาอังกฤษขณะดินทางในรถ, เขียนไดอะรี่ของตัวเองหรือโต้ตอบอีเมลกับเพื่อนเป็นภาษาอังกฤษ, อ่านออกเสียงวันละครึ่งหน้า หรืออะไรก็ได้ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ แต่ถ้าจะให้ดีควรใช้งานทั้ง 4 อวัยวะให้ครบ คือ ตา-ดูและอ่าน, หู-ฟัง, มือ-เขียน, และ ปาก-พูด ถ้าไม่มีคนพูดด้วย -พูดคนเดียวก็ได้
สำหรับวันนี้ ผมอยากจะแนะนำสื่อจากเน็ตที่หยิบมาใช้ง่าย ๆ คือ Google Video
วิธีใช้ก็ง่าย ๆ ครับ คือให้ท่าน
-เข้าไปที่ www.google.com
-พิมพ์คำภาษาอังกฤษที่ท่านสนใจลงไป, Enter,
-คลิกคำว่า Videos ที่คอลัมน์ซ้ายมือ,
-นอกจากนี้ที่คอลัมน์ซ้ายมือนี้ ท่านยังสามารถคลิกเลือกคลิปวีดิโอตาม duration, time, Sort, quality, captions, และ source ซึ่งมาจากมากมายหลายแหล่ง มากจริง ๆ เพราะการค้นหาวีดิโอผ่าน google.com นอกจาก เว็บ YouTube แล้ว ยังมีเว็บวีดิโออีกมากมายที่ Google เข้าไปหาวีดิโอมาให้เรา
เท่านี้แหละครับท่านก็จะได้ชมวีดิโอที่ท่านต้องการ
ถ้าท่านถามว่า ทำไมผมจึงสนใจเป็นพิเศษเรื่องการฝึกภาษาอังกฤษผ่านวีดิโอ เหตุผลก็เพราะว่า จากแบบสอบถามที่ท่านผู้อ่านตอบในบล็อกนี้ จำนวนมากต้องการฝึกทักษะการพูด เรื่องของเรื่องก็คือว่า สำหรับเราคนไทยที่ไม่ได้ไปอยู่หรือไปเรียนในต่างประเทศ โอกาสที่เราจะพูดนั้นมีน้อย แต่ถ้าถามว่า การฝึกอ่านเยอะ ๆ กับการฝึกฟังเยอะ ๆ อย่างไหนช่วยปูพื้นในการพูดมากกว่ากัน ก็เห็นได้ชัดว่าคือการฟัง แต่การฟังเฉย ๆ (mp3) อาจจะไม่น่าสนใจเท่ากับการฟังพร้อมเห็นภาพ วีดิโอจึงเข้ามาช่วยตรงนี้ได้เป็นอย่างดี
เอาเป็นว่า เมื่อท่านลงนั่งหน้าคอมฯ ที่ต่อเน็ต ถ้านึกไม่ออกว่าวันนี้ควรจะฝึกภาษาอังกฤษอย่างไรดี ก็ฝึกกับวีดิโอตามที่ผมแนะนำนี่แหละครับ พยายามหาคลิปที่มีบทพูดเยอะ ๆ และพยายามเงี่ยหูฟัง วิธีทดสอบง่าย ๆ ก็คือ ในเที่ยวที่สองให้ฟังซ้ำโดยหลับตาหรือไม่มองจอ ถ้าเข้าใจได้เยอะเหมือนเที่ยวแรกก็แสดงความทักษะการฟังของเราใช้ได้ เพราะอย่าลืมว่า แม้เราจะฝึกภาษาอังกฤษกับวีดิโอโดยใช้ทั้งตาดูและหูฟัง แต่ในท้ายที่สุดทักษะที่เราต้องการฝึกก็คือ listening skill ซึ่งใช้หู
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น