“ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉันจะใช้แต่ดิก อังกฤษ-อังกฤษ” นี่เป็นข้อความที่ผมกะจะพูดเป็นประโยคสุดท้ายของเรื่องที่ผมจะชักชวนท่านผู้อ่านในวันนี้
ผมเอาประโยคสุดท้ายมาเขียนเป็นประโยคแรก เพื่อเรียนท่านผู้อ่านชัด ๆ เลยว่า ผมกำลังจะพูดเรื่องอะไร ผมขอคุยเลยนะครับ...
ที่บล็อกนี้ ผมได้ทำ แบบสอบถามท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการใช้บล็อกนี้และการฝึกภาษาอังกฤษ มีอยู่ข้อหนึ่งผมถามว่า เวลาที่ท่านเปิดดิก หรือไปที่เว็บดิก ส่วนใหญ่ท่านจะใช้ดิกอะไร ? เปอร์เซนต์ที่ท่านผู้อ่านตอบเป็นอย่างนี้ครับ
ใช้ดิก อังกฤษ - ไทย 61 %
ใช้ดิก อังกฤษ - อังกฤษ 7 %
ใช้ดิกทั้ง 2 ประเภท พอ ๆ กัน 30 %
จากตัวเลขนี้ผมสรุปว่า มีคนไทยเกินครึ่งที่เมื่อติดศัพท์จะพึ่งดิกอังกฤษ – ไทย เพียงอย่างเดียว และมีจำนวนน้อยมาก คือ ไม่ถึง 1 ใน 10 ที่ใช้เฉพาะดิกอังกฤษ – อังกฤษ ส่วนตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่ใช้ดิกทั้ง 2 ประเภท พอ ๆ กัน มีจำนวน 30 % ที่น่าสนใจก็เพราะว่า ถ้าผมเดาถูกต้อง เวลาที่ท่านติดศัพท์ ท่านอาจจะเปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษก่อน แต่ถ้าอ่านไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจ ก็จะเปิดดิกอังกฤษ-ไทยเพื่อยืนยันความถูกต้อง นี่แสดงว่าท่านกำลังพยายามที่จะใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษเป็นหลัก แต่ในช่วงนี้ก็อาศัยดิกอังกฤษ-ไทยเป็นพี่เลี้ยงไปก่อน
ถ้าเป็นอย่างที่ผมเดานี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะว่า
1.ถ้าฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ท่านจะค่อย ๆ คล่องขึ้นในการใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ คือเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น ผมนึกถึงตัวเองสมัยที่เริ่มฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษตอนอยู่ชั้นมัธยม ระยะแรกมั่นไม่รื่นเลยครับ และกว่าจะเริ่มรู้สึกว่ารื่นก็ต้องฝึกเรื่อย ๆ อยู่ถึง 2 ปี และตอนฝึกนี้ก็ต้องอาศัยดิกอังกฤษ-ไทยเป็นพี่เลี้ยง เพราะอย่างที่เรียนแล้ว คือ เปิดดิกอังกฤษ-อังกฤษ อย่างเดียว ไม่ค่อยเข้าใจ หรือไม่แน่ใจ แต่ผมเชื่อว่า ท่านที่ฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ใน พ.ศ.นี้คงไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนกับผมหรอกครับ เพราะมีตัวช่วยหลายตัว เดี๋ยวผมจะย้อนกลับมาพูดเรื่องนี้
2.ถ้าฝึกอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ท่านจะค่อย ๆ ลดการใช้ดิกอังกฤษ-ไทยลงทีละน้อย ๆ จนถึงวันหนึ่งก็แทบไม่มีความจำเป็นต้องใช้ดิกอังกฤษ –ไทย พูดอย่างนี้เหมือนกับดูถูกดิกอังกฤษ-ไทย มิได้ครับ มิได้หมายความเช่นนั้นเลย แต่ผมกำลังจะบอกว่า ดิกอังกฤษ-ไทยที่มีวางขายในท้องตลาดทุกวันนี้ ต่อให้พยายามทำออกมาให้มีคุณภาพดีเพียงใด มันก็มีข้อจำกัดหรือข้อด้อยสำหรับผู้ใช้อยู่นั่นเอง
ผมขอยกตัวอย่างข้อจำกัดหรือข้อด้อยที่ว่านี้ ดังนี้ครับ
สมมุติว่า ท่านไปเจอประโยคนี้
She began to doubt everything he said.
และสมมุติว่า ท่านไม่รู้ว่า doubt แปลว่าอะไร ท่านก็ไปเปิดดิกอังกฤษ-ไทย ซึ่งหลายเล่มก็ให้คำแปลว่า สงสัย หรือ ความสงสัย พอได้คำแปลอย่างนี้ ท่านก็แปลประโยคนี้ว่า “เธอเริ่มสงสัยทุกสิ่งที่เขาพูด” หลังจากนี้ท่านก็จะจำเลยว่า doubt แปลว่า สงสัย ไปเจอ doubt เมื่อไรก็จะแปลว่า สงสัยเมื่อนั้น
คราวนี้ท่านมาเจอประโยคนี้
The police suspect him of murder
สมมุติท่านไม่รู้อีกว่า suspect แปลว่าอะไร พอไปเปิดดิกอังกฤษ-ไทย ซึ่งหลาย ๆ เล่มก็ให้คำแปลว่า สงสัย ท่านเลยแปลประโยคนี้ว่า “ตำรวจสงสัยเขาในคดีฆาตกรรม”
ก็เลยกลายเป็นว่า สงสัยมี 2 คำ คือ doubt และ suspect คำถามก็คือ 2 คำนี้มันเหมือนกันหรือเปล่า ถ้าต่าง-ต่างอย่างไร
เรื่องของเรื่องก็คือว่า ผู้รู้ซึ่งแต่งดิกอังกฤษ-ไทย ทุกท่าน จะพยายามหาคำหรือวลีไทยซึ่งมีอยู่แล้วในภาษาไทยมาเทียบศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่หลายครั้งที่คำศัพท์ใน 2 ภาษานี้มันมีความหมายไม่ตรงกันเด๊ะ เรียกว่า shade of meaning มันไม่ทับกันสนิท ในกรณีอย่างนี้ต้องหาคำที่ใกล้เคียงที่สุดมาเทียบ และในการแปลเทียบเช่นนี้แหละครับที่ความหมายอาจจะเพี้ยนไปบ้าง ยกตัวอย่าง doubt และ suspect ข้างบนนี้ คือ
Doubt สงสัย ว่าคงไม่จริง
Suspect สงสัยว่า คงจะจริง
และท่านใดทราบบ้างครับว่า คำในภาษาไทยที่มีความหมายเด๊ะ ๆ ว่า สงสัย ว่าคงไม่จริง หรือ สงสัยว่า คงจะจริง มันคือคำว่าอะไร ผมเข้าใจว่า ไม่มีคำที่มีความหมายเจาะจงเช่นนี้ในภาษาไทย เพราะ shade of meaning ของคำนี้ใน 2 ภาษานี้มันไม่ซ้อนกันสนิท
และทั้งหมดนี้มีผลอย่างไรล่ะครับ? ก็ขอตอบว่า
1.เมื่อเราอ่านหรือฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจ หลายครั้ง การใช้ดิกอังกฤษ-ไทย เป็นตัวช่วยที่ทำให้เราเข้าใจได้ไม่ครบถ้วน
2.เมื่อเราเขียนหรือพูด ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องใช้ให้เป็น ดิกอังกฤษ-ไทย คงไม่สามารถช่วยให้เราเอาศัพท์พวกนี้ไปใช้ได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ
แล้วถ้าเราใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษล่ะ เราจะสามารถทั้งเข้าใจและใช้เป็น จริงหรือ?
ผมขอให้ท่านลองเข้าไปดูความหมายของ 2 คำนี้ ในดิกอังกฤษ-อังกฤษ ชื่อดังของโลกข้างล่างนี้
Oxford doubt - suspect
Longman doubt- suspect
Merriam-Webster doubt - suspect
COBUILD doubt- suspect
เมื่อค่อย ๆ อ่านดูท่านก็จะเห็นชัดว่า ดิกอังกฤษ-อังกฤษ ฉบับมาตรฐานเหล่านี้ให้ความหมายที่ถูกต้องครบถ้วนตรงกัน แต่ถ้าเราใช้ดิกอังกฤษ-ไทย เราก็ต้องยอมรับสภาพว่า ความหมายที่มีให้ บางคำ อาจจะตก ๆ หล่น ๆ บ้าง
แต่ดิกอังกฤษ-อังกฤษ มีประโยชน์มากกว่าดิกอังกฤษ-ไทย เพียงเท่านี้หรือ? มิได้ครับ ยังมีอีกเยอะ ผมขอยกตัวอย่างที่นึกออกขณะนี้
1.ดิกอังกฤษ-อังกฤษแสดงประโยคตัวอย่างของแต่ละความหมายของคำศัพท์ เพราฉะนั้นดิกพวกนี้จึงมีคำศัพท์เรียกเฉพาะว่า learner’s dictionary ตัวอย่างเหล่านี้นอกจากประกอบคำนิยามศัพท์แล้ว ยังทำให้ผู้ใช้ดิกได้เห็นตัวอย่างการผูกประโยคโดยใช้คำศัพท์นี้ เช่น ลักษณะประโยค, preposition ที่ใช้ร่วมกัน, คำอื่น ๆ ที่มักจะอยู่ด้วยกันกับศัพท์คำนี้ (เรียกว่า collocation), ประธานหรือกรรมส่วนใหญ่ที่ศัพท์คำนี้มักเข้าไปประกอบอยู่ด้วย ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยให้เรา “ใช้เป็น” เมื่อเราต้องเอาศัพท์ไปพูดหรือเขียน
2.ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วมาก และศัพท์ใหม่หรือความหมายใหม่ ๆ ของศัพท์เก่าก็เกิดขึ้นเร็วมากเช่นกันตามการหมุนของโลก ดิกชันนารีอังกฤษ-อังกฤษเหล่านี้สามารถ update หรือ revise ตัวเองได้เร็วมาก ซึ่งแปลว่า เมื่อชาวบ้านชาวเมืองเขาใช้ศัพท์ใหม่หรือความหมายใหม่ ดิกพวกนี้ก็เอามาไว้ในเล่มดิกหรือเว็บดิกชองตน แต่ดิกอังกฤษ-ไทยทำอย่างนี้ได้ไม่ทัน เพราะกว่าจะแปล-ตรวจ-พิมพ์ ศัพท์ใหม่ที่ใส่เข้าไปก็กลายเป็นศัพท์เก่าซะแล้ว ในแง่นี้เราจึงจำเป็นต้องใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ เพราะดิกอังกฤษ-ไทย ไม่มีศัพท์เพียงพอให้เราใช้ ไม่เพียงพอจริง ๆ ครับ
3.การฝึกใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษ เป็นวิธีง่าย ๆ และได้ผลในการฝึกคิดเป็นภาษาอังกฤษ เพราะทั้งคำอธิบายความหมาย ประโยคตัวอย่าง ไม่เปิดโอกาสให้เราต้องสะดุดเปลี่ยน mode มาคิดเป็นภาษาไทย และถ้าได้ฝึกอ่านออกเสียงตามไปด้วย หรือลอกบางประโยคใส่ลงสมุดจดศัพท์ ก็จะได้ฝึกหลาย ๆ ทักษะพร้อมๆกันไป คลื่นความคิดก็จะมีแต่คลื่นภาษาอังกฤษ และการคิดเป็นภาษาอังกฤษนี่แหละครับ คือการก้าวขึ้นสูงสู่อีกระดับหนึ่ง แม้ในระยะแรก ๆ อาจจะเป็นก้าวเล็ก ๆ ก็ตาม
พออ่านมาถึงบรรทัดนี้ ท่านอาจจะถามว่า แล้วจะทำยังไงให้สามารถใช้ดิกอังกฤษ-อังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องพึ่งดิกอังกฤษ-ไทยเลย หรือพึ่งให้น้อยที่สุด ผมมีข้อแนะนำอย่างนี้ครับ ท่านจะทำข้อไหนก่อนก็ได้ ไม่ต้องทำไปตามลำดับ
1.ศึกษาศัพท์จาก wordlist
ที่เว็บ dictionary ของ Longman, Merriam-Webster, Oxford และ เว็บ VOA Special English เขาได้จัดทำ Wordlist หรือบัญชีคำศัพท์ที่ใช้บ่อย ไม่เกิน 3000 คำ ซึ่งหมายความว่า ถ้าเข้าใจความหมายของทุกคำใน list เหล่านี้ก็จะสามารถอ่านดิกของเขาได้ทั้งเล่ม หรืออ่านเว็บได้ทั้งเว็บ ศัพท์ใน list เหล่านี้แม้จะต่างคนต่างทำ แต่ก็มักจะซ้ำกันเป็นส่วนใหญ่ และถ้าสามารถจดจำได้มากเท่าใดก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะมันเป็นศัพท์พื้นฐานที่ควรเข้าใจและใช้เป็น
ผมได้รวมรวบไว้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ เมื่อเข้าไปแล้ว ดับเบิ้ลคลิกที่คำใดก็จะมีคำแปลไทยปรากฏ อันดับแรกผมขอให้ท่านมองข้ามคำแปลไทยนี้ลงไปข้างล่างจนพบคำว่า Show more Web definitions » เมื่อคลิกแล้วจะมีความหมายจากดิกอังกฤษ-อังกฤษ ขอให้ศึกษาศัพท์พื้นฐานจาก wordlist พวกนี้แหละครับ
2,000 คำ: Longman Defining Vocabulary คลิก
3,000 คำ: Merriam-Webster's Learner's Dictionary คลิก
3,000 คำ: Oxford 3000 wordlist คลิก
2,500 คำ: Macmillan Defining Vocabulary คลิก
1,500 คำ: VOA Special English คลิก 1 หรือ คลิก 2
2.ฝึกกับดิก Cambridge, Oxford, Longman
ดิกทั้ง 3 เว็บนี้ เมื่อท่านอ่านคำอธิบายและไม่รู้ความหมายของศัพท์คำใด ท่านสามารถคลิกเพื่อให้เว็บโชว์ความหมายของศัทพ์คำนั้นไปได้เรื่อย ๆ
คลิกดูดิกทั้ง 3 เว็บที่ลิงค์นี้ครับ http://dictionarysearchbox.blogspot.com/
สำหรับ Cambridge และ Oxford สามารถคลิกฟังการออกเสียงคำศัพท์ (และฝึกออกเสียงตาม) มีทั้งสำเนียงอังกฤษและอเมริกัน ส่วน Longman เฉพาะคำที่ขึ้นต้นด้วย d และ s สามารถคลิกฟังประโยคตัวอย่างได้ทั้งประโยค แต่บางที browser IE อาจจะใช้ไม่ได้ ต้องเปิดด้วย browser Google Chrome
3.ศึกษาเว็บที่มี pop-up dictionary
เว็บศึกษาภาษาอังกฤษต่อไปนี้ ท่านสามารถใช้ Search หาอะไรก็ได้ที่ท่านต้องการอ่าน เมื่อดับเบิ้ลคลิกที่คำศัพท์ของบทความ จะมีความหมายเป็นภาษาอังกฤษโชว์ทันที ขอแนะนำให้ท่าน Search หาเรื่องที่ท่านรักที่จะอ่าน เมื่อส่งสัยศัพท์ก็คลิกดูความหมายอย่างที่ว่านี้แหละครับ
VOA Special English (Merriam-Webster Learner’s Dictionary)
http://www.voanews.com/learningenglish/home/
Answers.com
http://www.answers.com/
http://www.englishforum.com/00/
ถ้าเป็นลิงค์ภายในของเว็บนี้ (ขึ้นต้นด้วย URL ของเว็บ ) สามารถดับเบิ้ลคลิกคำศัพท์ทุกคำให้โชว์คำแปลจาก Cambridge Dictionary)
4.ใช้บริการจากเว็บแปลศัพท์ อังกฤษ-อังกฤษ
เท่าที่ผมเคยพบขณะนี้มีอยู่ 3 เว็บคุณภาพดีที่เมื่อเราพิมพ์ข้อความ หรือ copy+paste URL ของเว็บใส่ลงไป เมื่อคลิกหรือดับเบิ้ลคลิกที่คำศัพท์ก็จะโชว์คำแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น เราต้องการอ่านข้อความใด หรือหน้าเว็บใด ก็สามารถอ่านได้โดยสะดวกเหมือนมีฝรั่งมายืนอยู่ใกล้ ๆ คอยบอกศัพท์ให้ทุกคำในทันทีที่ถาม
4.1 -พิมพ์ URL ลงไปที่เว็บนี้: http://www.lingro.com/
(ถ้าต้องการเปิดลิงค์, ให้คลิกขวาที่ลิงค์, และคลิก open in new tab หรือ open in new window)
4.2 -พิมพ์ข้อความภาษาอังกฤษลงไปที่เว็บนี้: http://www.voycabulary.com/
4.3 -ใช้บริการแปลของเว็บ esldesk.com http://www.esldesk.com/reading/esl-reader
*** วิธีใช้งาน esldesk.com ***
1.copy และ paste ข้อความภาษาอังกฤษใส่ลงไป, คลิก Click here,
2.ตรง Definitions ให้เลือกดิกที่ต้องการ ซึ่งผมขอแนะนำให้ใช้Cambridge
3.คลิกคำที่ต้องการ
แต่ถ้าต้องการตัวช่วยเป็นดิก อังกฤษ – ไทย, ตรงช่อง Translations ให้เลือก Thai,
ท่านผู้อ่านครับ ในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีฝึกผมคงมีเรื่องที่จะพูดแค่นี้ ต่อจากนี้ก็อยู่ที่แต่ละท่านจะไปฝึกกันเอาเอง แต่ก่อนจากผมขอพูดอะไรแถมท้ายสักนิดนะครับ
คนรุ่นผมนี่นะครับ สำหรับคนที่เป็นพนักงานบริษัทหรือรับราชการ ถ้ายืนกรานที่จะไม่ฝึกภาษาอังกฤษ ก็อาจจะไม่มีใครเขี่ยวเข็ญมากนัก เพราะทำงานมาเกือบ 30 ปีแล้ว ทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในงานก็เริ่มอยู่ตัวแล้ว ตอนนี้มีความชำนาญด้านใดก็ใช้อันนั้นแหละทำงานไปจนเกษียณอายุซึ่งก็คงเหลืออยู่อีกไม่กี่ปี ถ้าอ่อนแอด้านภาษาอังกฤษหัวหน้าเขาก็อาจจะขี้เกียจตอแย หรือสำหรับท่านที่มีธุรกิจของตัวเองถ้าไม่สามารถทำให้ภาษาอังกฤษของตัวเองใช้งานได้ ก็ต้องหาคนเก่งมาใช้ สรุปก็คือผมไม่ค่อยห่วงคนรุ่นผม
แต่ผมห่วงคนรุ่นใหม่....
ไม่ว่าน้อง ๆ กำลังจะหางาน, กำลังจะได้งาน, หรือเพิ่งจะทำงานไม่นานนัก หรือแม้แต่น้อง ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง กำลังก่อร่างสร้างตัว ถ้าน้องต้องการได้รับความสำเร็จ ความก้าวหน้า ความคล่องตัว ชีวิตการทำงานของน้องในอนาคตต้องมีภาษาอังกฤษเป็นทักษะหลักอยู่ด้วย คนรุ่นก่อนอาจจะแก้ปัญหานี้โดยการเลือกเรียนวิชาหรือทำอาชีพที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ แต่คนรุ่นใหม่ไม่โชคดีมีทางเลือกอย่างนั้นหรอกครับ
เท่าที่ผมรู้สึกอยู่ก็คือ ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยแม้แต่ของคนรุ่นใหม่อ่อนเกินไป นี่เรากำลังพูดถึงคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่คนไม่กี่คนที่มีโอกาสออกทีวีและโชว์ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ เราจะเอาคนจำนวนน้อยนิดเหล่านั้นมาเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ไม่ได้
แต่ถ้ามองว่าเราควรจะฝึกภาษาอังกฤษอย่างไรเพื่อให้อนาคตของตัวเอง และอนาคตของเมืองไทยดีขึ้น ก่อนที่จะทำอะไร เรามาดูว่าเราคิดอย่างไรก่อนดีกว่า เพราะจากประสบการณ์ที่ทำบล็อกนี้มา 4 ปีทำให้ผมรู้สึกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยอ่อนแอ ไม่สามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นเท่าที่ควร เพราะเรามีทัศนคติอย่างคนที่ยอมแพ้และชอบแก้ตัว
-เราโทษครู โทษโรงเรียน โทษระบบการศึกษา โทษสิ่งแวดล้อมในสังคมว่าทำให้เราแย่ในเรื่องภาษาอังกฤษ พอโทษแล้วก็ไม่คิดทำอะไรให้มากเท่าที่ควร เพราะโยนความผิดไปให้เขาแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เราแย่เรื่องภาษาอังกฤษนี้จึงไม่ใช่ความผิดของเรา ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นดีเลิศประเสริฐศรี มิได้ครับ! แต่ผมกำลังบอกว่า การตำหนิสิ่งอื่นเพื่อแก้ให้ตัวเองพ้นผิด ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
-เรื่องทักษะภาษาอังกฤษที่อ่อนแอนี้ บางท่านยอมรับและยอมแพ้ แต่ผมอยากให้ท่านยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ มีความหวังอยู่เสมอ และพยายามที่จะทำให้ความหวังเป็นความจริง
-สำหรับท่านที่มีลูกมีหลาน ผมเห็นว่าสิ่งที่จะช่วยอย่างมากให้เด็กเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษก็คือเราเองต้องเป็นตัวอย่าง เราจะพูดว่า ตัวเราซึ่งเป็น “พ่อแม่มารู้ตัวว่าภาษาอังกฤษสำคัญก็เมื่อสายไปซะแล้ว จึงอยากให้ลูกสนใจภาษาอังกฤษไปตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะมันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกมากในอนาคต” พูดแค่นี้ไม่พอหรอกครับ มันลอยตัวเกินไป เราต้องทำอะไรให้ลูกเห็นว่าเราเองก็ฝึกภาษาอังกฤษเพราะภาษาอังกฤษมีประโยชน์ การที่เราฝึกได้ผลน้อยแต่พยายามมาก กลับจะเป็นตัวอย่างที่ดีซะอีก เพราะเด็กจะได้เห็นว่า ถ้าไม่อยากยักแย่ยักยันเรียนภาษาอังกฤษอย่างคนแก่ ก็ต้องเรียนให้ได้ผลดีตั้งแต่อายุน้อย
ทักษะที่สะสมไว้ทุกวันจะเป็นเหมือนกะตังค์ที่หยอดลงกระปุก ถ้าหยอดทุกวันก็ต้องมีวันที่ตังค์เต็มกระปุก ถ้าเรียนทุกวันก็ต้องมีวันที่ทักษะจะงอกงามจนใช้งานได้ แม้อาจจะไม่หรูหราสง่างามนัก แต่ก็ใช้งานได้ นี่ก็ดีถมไปแล้ว
ท่านผู้อ่านครับ บนเส้นทางการฝึกทักษะภาษาอังกฤษนี้ ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องของการลงทุน ผมก็ขอยืนยันว่า การพยายามฝึกจนสามารถใช้ดิกชันนารีอังกฤษ-อังกฤษ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเพื่อให้การลงทุนเช่นนี้ได้กำไรอย่างที่ตั้งใจไว้ เราควรจะบอกตัวเองว่า
“ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฉันจะใช้แต่ดิก อังกฤษ-อังกฤษ”
พิพัฒน์
GemTriple@gamil.com
เป็นบทความที่ดีและมีประโยชน์มากครับ
ตอบลบถ้าอย่างนั้น
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะใช้แต่ดิก อังกฤษ-อังกฤษ
ผมมาใหม่ไม่รู้แสดงความคิดเห็นถูกรึเปล่าครับ
ตอบลบอยากเรียนถามอาจารย์พิพัฒน์หน่อยครับว่า ถ้าจะตั้งคำถาม ด้วย verb to be กับ verb to do
ไม่ทราบว่าเวลาไหนถึงจะใช้ verb to be ตั้งคำถาม และ เวลาไหนจะใช้ verb to do ตั้งคำถามครับ รบกวนด้วยครับ
คำถามเกี่ยวกับ การตั้งคำถาม ด้วย verb to be กับ verb to do พอหาคำตอบได้ในเน็ต
ตอบลบลองไปที่นี่ก็ได้ครับ
http://tinyurl.com/22lws8h
พิพัฒน์ - Blogger