วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

[1430]ฝึกศัพท์ 8,700 คำเพื่ออ่าน นสพ.อังกฤษ

สวัสดีครับ
ในการเรียนภาษาอังกฤษ หลายท่านอาจจะตั้งเป้าหมายในการฝึกต่างกันไป มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าพูดถึงเป้าหมายโดยทั่วไป ที่ไม่สูงเกินไป และไม่เตี้ยเกินไป
ที่คนยุคใหม่ หรือ คนรุ่นใหม่ ควรจะทำให้ได้ ผมคิดว่า มีอยู่ 2 อย่าง คือ

1.สามารถพูดจาสื่อสารกับคนต่างชาติด้วยภาษาอังกฤษรู้เรื่อง คือไม่ต้องมีสำเนียงเป็นฝรั่ง ไม่ต้องคล่องแคล่วจนฝรั่งงง แต่ให้พอพูดกันได้รู้เรื่อง ในเรื่องพื้นฐาน
2.อ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษรู้เรื่อง คล้าย ๆ กับอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทย

นี่เป็น 2 ทักษะที่คนยุคใหม่ หรือ คนรุ่นใหม่ ควรจะฝึกฝนให้เป็นทักษะประจำตนให้ได้ ถ้าทำ 2 เรื่องนี้ได้ การจะสนทนาหรืออ่านเรื่องอื่นที่ยากขึ้นไป ก็จะทำได้ไม่ลำบาก

สมัยที่ผมเรียนจบเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ตอนกรอกใบสมัครเข้าทำงาน ตรงช่องความสามารถพิเศษ ผมสามารถเขียนลงไปว่า พูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษ ได้ดี แล้วก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นการสมัครงานสมัยนี้ ผมคิดว่าการพูด-อ่าน-เขียน ภาษาอังกฤษ ได้ดี เป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่นายจ้างมุ่งหวัง อาจจะไม่ได้ถือว่าเป็นความสามารถพิเศษอย่างคนรุ่นผม คนจบปริญญาสมัยนี้จึงต้องเก่งกว่าคนรุ่นผมในด้านภาษาอังกฤษ

ไหน ๆ ก็พูดแล้ว ขอพูดต่ออีกสักนิดเถอะครับ จากที่ผมเคยเดินทางไปหลายประเทศในเอเชีย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ผมเห็นว่าทักษะในการพูดภาษาอังกฤษของคนไทย โดยฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ยังต้องปรับปรุงอีกมากพอสมควรทีเดียว ผมกำลังเป็นห่วงว่า ในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่อาเซียน 10 ประเทศจะเป็นเขตไร้พรมแดนด้านแรงงาน คนจากประเทศอาเซียนอื่น ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษได้ สามารถเข้ามาหางานทำในประเทศไทยได้โดยเสรี และนายทุนต่างชาติหรือแม้แต่นายทุนชาวไทยก็เถอะ ก็สามารถจ้างคนชาติไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องจ้างคนไทย ถึงเวลานั้น เราจะตกงานกันมากกว่าปัจจุบันอีกเท่าไรผมไม่อยากคิดเลย หรือแม้แต่ใครที่จะทำธุรกิจส่วนตัว ก็ต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษอยู่นั่นเอง

ผมจึงเห็นว่า ณ วันนี้, พ.ศ. นี้, เราจึงควรพยายามเตรียมตัวให้มีทักษะภาษาอังกฤษด้านการสนทนา-เขียน-อ่าน ให้พอใช้งานได้หรือเอาตัวรอดได้
ในวันนี้ผมขอพูดเรื่องการอ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษให้รู้เรื่อง
ผมอยากให้ทุกท่านตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า เราจะอ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษรู้เรื่อง คล้าย ๆ กับที่อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ซึ่งในเมืองไทยก็มี 2 ฉบับใหญ่ ๆ คือ
http://www.bangkokpost.com/
http://www.nationmultimedia.com/

สำหรับบางท่าน เป้าหมายนี้อาจจะดูไกลเกินไป แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราเริ่มออกเดินทางอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เราก็จะมีวันนั้น วันที่เราถึงที่หมาย

และต้องถือว่าเป็นเรื่องโชคดีมากที่คุณวุฒิได้ส่ง list คำศัพท์ที่ท่านได้รวบรวมไว้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ Bangkok Post จำนวนประมาณ 8,700 คำมาให้ โดยผมได้เขียนแนะนำไว้ที่ลิงค์นี้ ศัพท์ข่าว - "news dictionary"
วันนี้ ผมได้นำเอาคำศัพท์ใน list ของคุณวุฒิมา paste ลงในบล็อกนี้ ที่ 2 ลิงค์นี้ ลิงค์ละ ประมาณ 4,000 คำ
ลิงค์ที่ 1
ลิงค์ที่ 2

ท่านสามารถฝึกทบทวนคำศัพท์ข่าวจากหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ชุดนี้ได้หลายวิธี เช่น
1.ดูศัพท์อังกฤษ และคำแปลภาษาไทยไปเรื่อย ๆ เพราะคงจะมีทั้งคำที่ท่านรู้แล้ว ไม่แน่ใจ และยังไม่รู้ หรือลืมไปแล้ว

2.ดับเบิ้ลคลิกที่ศัพท์อังกฤษ-จะมีคำแปลภาษาไทยปรากฏทันที หลายคำแปล คลิกที่ไอคอนรูปลำโพงเพื่อฟังเสียงอ่านคำศัพท์ได้เลย
-ที่บรรทัดล่างลงมาจะมีคำว่า Usage examples จะมีตัวอย่างข้อความการใช้คำศัพท์ให้ท่านศึกษา
-บรรทัดล่างลงมาอีก จะมีคำว่า Web definitions จะแสดงความหมายของคำศัพท์จากเว็บอื่น ๆ
-บรรทัดล่างลงมาอีก ซึ่งน่าสนใจอย่างมาก ๆ จะมีคำว่า Show more Web definitions » , ให้คลิกตรงนี้ ท่านจะพบนิยามคำศัพท์, ไอคอนรูปลำโพงเพื่อคลิกฟังเสียงอ่าน, และประโยคหรือวลีตัวอย่างแสดงการใช้คำศัพท์ จาก Collins COBUILD Dictionary ซึ่งเป็นดิก อังกฤษ – อังกฤษ ชื่อดังระดับโลก ท่านสามารถใช้ดิกเล่มนี้เป็นแหล่งศึกษาคำศัพท์ได้ป็นอย่างดี

3.ถ้าท่านต้องการศึกษาประโยคตัวอย่างเพิ่มเติม ก็ให้ไปที่อีก 3 เว็บที่ผมให้ไว้แล้วในลิงค์ทั้งสอง

เอาละครับ ขอเชิญท่านเข้าไปศึกษา 8,700 คำศัพท์ที่พบบ่อยในการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษได้เลยครับที่ 2 ลิงค์ข้างล่างนี้
ลิงค์ที่ 1
ลิงค์ที่ 2

ถ้าเส้นทางการเดินทางเพื่อให้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษรู้เรื่องมันเหงาหรือน่าท้อแท้ ลองจับกลุ่มเพื่อนเพื่อศึกษาด้วยกันซีครับ น่าจะทำให้การฝึกฝนภาษาอังกฤษมีชีวิตชีวามากขึ้น

ศึกษาเพิ่มเติม:
[224 เรียนศัพท์จากข่าวอังกฤษ ที่อธิบายเป็นภาษาไทย

พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com

1 ความคิดเห็น:

  1. มีประโยชน์มาก เป็นศัพท์ที่เห็นผ่านหูผ่านตาแต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ทราบความหมายแบบแม่นๆ
    ขอบคุณที่ช่วยรวบรวมมานะคะ:-)

    ตอบลบ