เพิ่มเติม 26 มีนาคม 2553:
The Most Frequent English Words, Phrases & Expressions is a list of 5325 words
******
สวัสดีครับ
ในการฝึกให้เก่งภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการพูดสนทนา ฟัง อ่าน หรือเขียน การเข้าใจคำศัพท์และใช้คำศัพท์เป็น เป็นสิ่งจำเป็น พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าไม่ติดขัดเรื่องคำศัพท์ เรื่องอื่น ๆ ก็ง่ายขึ้นเยอะ แต่เราต้องรู้ศัพท์มากขนาดไหนล่ะจึงจะเพียงพอต่อการใช้งาน เรื่องนี้ฝรั่งเขามีการศึกษาและจัดทำเป็น list คำศัพท์พื้นฐานที่ใช้บ่อย, มีหลาย list เพราะทำกันโดยหลายสำนัก และแต่ละ list ก็มีลักษณะต่างกันอยู่บ้าง ถ้ามีเวลาลองศึกษาทั้ง 5 ลิงค์นี้ดูก็ดีครับ
1 - 2 - 3 - 4 - 5
โดยส่วนตัว list คำศัพท์พื้นฐานที่ผมรู้จักและรู้สึกว่ามีประโยชน์มากที่สุด มีอยู่ 3 list คือ list ของ
VOA Special English (1500 คำ) ,
Longman Dictionary (2000 คำ)
Oxford Dictionary (3000 คำ)
เพราะ list คำศัพท์ทั้ง 3 list นี้มีการจัดทำขึ้นอย่างเป็นระบบ และผ่านการพิสูจน์อย่างมากมายจากผู้ใช้ทั่วโลกว่าได้ผลจริง ถ้ารู้คำศัพท์ใน list เหล่านี้แล้ว ก็จะสามารถเข้าใจ (ฟัง-อ่าน) และสื่อสาร (พูด-เขียน) เรื่องพื้นฐานได้อย่างเพียงพอ และการต่อยอดให้รู้ศัพท์มากขึ้นก็ทำได้ไม่ยาก
คำถามแรกที่ต้องตอบก็คือ ทำอย่างไรเราจึงจะจำศัพท์ใน list นี้ได้หมดทุกคำ? ท่านลองคลิกเข้าไปดูอีกครั้งก็ได้ครับ
VOA Special English (1500 คำ) ,
Longman Dictionary (2000 คำ) และ
Oxford Dictionary (3000 คำ)
ผมเข้าใจว่า แต่ละท่านก็อาจจะมีความรู้สึกต่างกันต่อ list เหล่านี้ บางท่านอาจจะรู้สึกว่าง่ายมาก ๆ มีแต่ศัพท์พื้นฐานทั้งนั้นเลย แต่บางท่านอาจจะรู้สึกตรงกันข้าม คือ มีแต่ศัพท์ยาก ๆ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นทั้งนั้นเลย และหลายท่านก็อาจจะรู้สึกว่า บางคำก็รู้จัก บางคำก็ไม่รู้จัก บางคำก็ไม่แน่ใจ
สำหรับผมเองขอเรียนความเห็นส่วนตัวว่า ถ้าเราใช้ระดับความยากง่ายของคำศัพท์ที่เราพบเห็นในสื่อต่าง ๆ ระดับนานาชาติ เช่น Bangkok Post, BBC, CNN หรือภาษาอังกฤษที่ปรากฏตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เมื่อเราเข้าไปหาอ่านข่าวสารความรู้ เราจะได้ข้อสรุปว่า ศัพท์ใน 3 list นี้ซึ่งไม่ต่างกันมากนัก เป็นคำศัพท์ที่เราน่าจะรู้ทุกคำ ถ้าเราต้องการอ่านรู้เรื่อง – และฟังรู้เรื่อง, ถ้าเราต้องการเป็นทั้งชาวไทย.. และชาวโลก
จึงขอย้อนกลับไปยังคำถามข้างบน คือ ทำอย่างไรเราจึงจะจำศัพท์ใน list นี้ได้หมดทุกคำ?
จากประสบการณ์การเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก ทุกท่านย่อมเห็นได้ว่า เรามิได้จำคำศัพท์โดยการท่องดิกจาก A ถึง Z หรือจากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย แต่ราจำได้ทีละคำจากการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน สำหรับท่านที่อยู่ในเมืองไทยและไม่มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษมากนัก ศัพท์ที่จำได้อาจจะมาจากการอ่านและฟัง แต่ถ้าได้ไปศึกษาหรืออยู่เมืองนอก หรืออยู่เมืองไทยแต่ได้ทำงานหรือคลุกคลีกับชาวต่างชาติ ศัพท์ก็จะเข้าสู่สมองของเราผ่านการใช้ทั้ง 4 ทางคือ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน นี่คือวิธีการจำศัพท์ที่เป็นธรรมชาติ
และเมื่อเราไม่ควรจำศัพท์โดยการท่องดิกซึ่งเป็นวิธีที่ผิดธรรมชาติ ศัพท์ใน 3 list ข้างบนนี้ก็มิได้มีไว้ให้เราท่องเช่นกัน
*****
ขอเล่าประสบการณ์สักนิดนะครับ ถ้าบางตอนอ่านแล้วดูเหมือนเป็นการยกตนก็ต้องขอประทานอภัยด้วย เพราะมิได้ตั้งใจอย่างนั้นเลย
ผมเองเป็นคนจำศัพท์ได้ค่อนข้างเยอะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อน ๆ และข้อสรุปจากประสบการณ์ในการจำศัพท์ให้ได้ก็คือ จะต้องผ่าน 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1: การใช้
การใช้ คือการเปิดประตูให้คำศัพท์เข้าไปสิงสถิตในสมองเรา ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ควรใช้ครบทุกวิธี คือการ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน แต่ทว่าแต่ละคนอาจจะใช้วิธีใดมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความชอบและโอกาส อย่างเช่นผมชอบอ่านหนังสือ ก็ทำให้ศัพท์ส่วนใหญ่ที่จำได้มาจากการอ่าน แต่ท่านอื่นอาจจะได้ศัพท์จากการดูหนัง ฟังเพลง เขียนบันทึก คุยกับเพื่อนเป็นภาษาอังกฤษ สรุปง่าย ๆ ก็คือ พยายามหาโอกาสให้ตนเองได้ใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลาย ๆ อย่าง เช่น เพื่อการเรียน เพื่อการทำงาน เพื่อความรู้ เพื่อความเพลิดเพลิน ฯลฯ ให้การใช้ภาษาอังกฤษได้แทรกตัวเข้าไปในทุกกิจกรรมเหล่านี้ และพยายามให้ได้ใช้ทุกวิธีด้วย เช่น ถ้ารู้สึกว่ามีแต่การอ่านอย่างเดียว ก็พยายามให้ได้ใช้พูดหรือเขียนด้วย หรือถ้าหนักไปในการฟังก็ควรพยามฝึกอ่านด้วย ให้ได้ใช้หลาย ๆ วิธี... นี่คือการจำศัพท์โดยการใช้ภาษาอังกฤษ
ขั้นตอนที่ 2: การทบทวน – ทดสอบ – ท่อง
ในขั้นตอนที่ 1 ที่เราใช้ภาษาอังกฤษในการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน นั้น มันก็มีการทบทวน – ทดสอบ – และ ท่องศัพท์ไปในตัว โดยเราอาจจะไม่รู้ตัว พอมารู้สึกตัวก็จำศัพท์ได้ซะแล้ว แต่สิ่งที่ผมต้องการแนะนำในที่นี้ก็คือ เราสามารถใช้ประโยชน์จาก list คำศัพท์เป็นเครื่องมือในการทบทวน – ทดสอบ – ท่อง คำศัพท์ ซึ่งมาจากการใช้ในขั้นตอนที่ 1 และจริง ๆ แล้วหลายคนที่เรียนภาษาอังกฤษได้สร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์ คือ การจัดทำ สมุดคำศัพท์ส่วนตัว เพื่อเก็บไว้ ทบทวน – ทดสอบ – ท่อง
ผมกำลังจะบอกท่านว่า อันที่จริง เราอาจจะจำคำศัพท์ได้โดยการใช้ภาษาอังกฤษในขั้นตอนที่ 1 เพียงอย่างเดียว และไม่ต้องมีขั้นตอนที่ 2 ก็ได้ แต่ว่ามันอาจจะใช้เวลานานเกินไป แต่ถ้าเรานำเอาศัพท์ที่เราเจอ (ที่เราจดไว้ในสมุดคำศัพท์ส่วนตัว) หรือคำศัพท์ที่เราจะต้องเจอ (ก็คือคำศัพท์ใน 3 list นี้) มาทบทวน ทดสอบตัวเอง และท่องบ่อย ๆ พร้อม ๆ ไปกับการใช้ภาษาอังกฤษเป็นประจำตามขั้นตอนที่ 1 เราก็จะสามารถจำคำศัพท์ที่เราควรจะต้องรู้ – จำเป็นต้องรู้ ได้เร็วกว่าเดิม – มากกว่าเดิม – และจำได้นานกว่าเดิม
พูดง่าย ๆ ก็คือ การจำคำศัพท์ควรใช้ทั้ง 2 ขั้นตอนควบคู่กันไป
และในที่นี่ ผมได้นำคำศัพท์ทั้ง 3 list มาโพสต์ลงในบล็อกนี้, เมื่อท่านคลิกเข้าไปใน 3 ลิงค์ข้างล่างนี้ ขอให้ท่าน:
1.ไล่ดูว่าศัพท์ตัวใดที่ท่านไม่รู้ หรือไม่แน่ใจ หรือต้องการจะดูว่าที่จำไว้ถูกต้องหรือเปล่า ก็ดับเบิ้ลคลิกที่คำนั้น หน้าต่างคำแปลเป็นภาษาไทยจะปรากฏทันที
2.คลิกที่ไอคอนรูปลำโพง เพื่อฟังเสียงอ่าน และออกเสียงตาม, ท่านเชื่อผมเถอะครับว่า คำใดก็ตามที่เราไม่สามารถเปล่งเสียงด้วยตัวเองอย่างมั่นใจ คำนั้นเรามักจะจำไม่ค่อยได้ หรือถ้าจำได้ก็ลืมง่ายที่สุด
3. ในหน้าต่างที่โชว์คำแปลนั้น ถ้าท่านต้องการศึกษาเพิ่มเติม ก็เลื่อนลงมาข้างล่างใต้บรรทัด Web definitions และคลิก Show more Web definitions » ก็จะมีภาคภาษาอังกฤษให้ท่านศึกษาศัพท์คำนั้น
เชิญเลยครับ...
VOA
VOA Special English Word Book
Longman
The Longman Defining Vocabulary
Oxford
The Oxford 3000 wordlist
ศึกษาเพิ่มเติม:
รวมบทความเกี่ยวกับคำศัพท์ในบล็อกนี้
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ได้ประโยชน์มากๆๆเลย ขอบคุณครับ
ตอบลบ