สวัสดีครับ
จากประสบการณ์ที่เขียนบล็อกมา 3 ปี ถ้ามีใครถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเก่งภาษาอังกฤษ คำตอบของผมเป็นสิ่งที่หลายท่านคงจะเดาได้ นั่นคือ การจะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษ หรือในเรื่องใดๆก็ตาม ต้องใช้ อิทธิบาท 4 ข้อ ไปตามลำดับ คือ
อิทธิบาท ข้อ 1 ฉันทะ – รักในสิ่งที่ทำ
อิทธิบาท ข้อ 2 วิริยะ – ขยันทำสิ่งนั้น
อิทธิบาท ข้อ 3 จิตตะ ทำสิ่งนั้นด้วยใจจดจ่อ หรือ มีสมาธิ
อิทธิบาท ข้อ 4 วิมังสา – ใคร่ครวญเพื่อหาวิธีแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่ทำ
ทุกคนที่เรียนภาษาอังกฤษด้วยอิทธิบาท 4 ข้อ ไปตามลำดับ 1-2-3-4 ย่อมประสบความสำเร็จ คือ เก่งภาษาอังกฤษ
อย่างไรตาม สิ่งที่น่าสนใจที่ผมได้พบก็คือ ในขณะที่คนไทยต่างรู้จักอิทธิบาท 4 ข้อ แต่แทนที่จะใช้อิทธิบาท 4 จากข้อ 1 -2 -3 -4 ไปตามลำดับ กลับใช้อิทธิบาท 4 ย้อนหลัง คือ 4 -3 -2 -1 ซึ่งผลจากการปฏิบัติธรรมย้อนหลังนอกคำสอนครูบาอาจารย์เช่นนี้ มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการปฏิบัติธรรมตามวิธีปกติ
ข้อสังเกตเช่นนี้มาจากอะไร?
ท่านจะเห็นว่า เมื่อเราเรียนภาษาอังกฤษตามวิธีของอิทธิบาท 4 ข้อ จะต้องเริ่มต้นด้วยความรัก เมื่อรักก็จะขยันทำ และทำอย่างมีสมาธิ และใช้สมาธิใคร่ครวญเพื่อแก้ไขปรับปรุง ทำไปตามลำดับเช่นนี้ ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพก็เกิดขึ้นได้เร็ว แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า คนไทยและเด็กไทยจำนวนไม่น้อยไม่รักภาษาอังกฤษ ไม่ชอบภาษาอังกฤษ หรือบางคนถึงขั้นเกลียดภาษาอังกฤษ แต่...แต่ความจำเป็นที่เห็นและเป็นอยู่บอกว่า ถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษ ถ้าพูดหรือเขียนภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็จะแย่กว่าชาวบ้านที่เขาเก่งภาษาอังกฤษ และเมื่อทุกคนต้องการประสบความสำเร็จด้วยภาษาอังกฤษ แต่ไม่รัก หรือไม่สามารถทำใจให้รัก คือ ไม่มีฉันทะ คือ อิทธิบาท ข้อ 1 หลายคนก็ยังไม่ทิ้งอิทธิบาทธรรมอยู่นั่นเอง แต่ไป Start ที่ข้อ 4 และต่อด้วยข้อ 3 -2 -1 ทำให้มีปรากฏการณ์ ดังนี้
อิทธิบาท ข้อ 4 วิมังสา (ใคร่ครวญเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนภาษาอังกฤษ)
จะพบว่าหนังสือ หรือคำถามประเภท How- to เป็นที่นิยมมาก หลายคนพยายามหาคำตอบให้ได้ว่าจะฟิตภาษาอังกฤษด้วยวิธีใด จึงจะได้ผลดีที่สุด เร็วที่สุด ง่ายที่สุด จะหาแหล่งการศึกษา เช่น โรงเรียนสอนภาษา, หนังสือ, ซีดี, เว็บ, โปรแกรม ที่ดีที่สุด และแทบทุกคนก็มีคำตอบให้ตัวเองว่า จะต้องเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร แต่ก็หยุดอยู่แค่นี้ เข้าทำนอง รู้แต่ไม่ทำ หลายคนชอบดาวน์โหลดไฟล์หนังสือ หรือ MP3 เก็บไว้ไม่น้อย แต่ก็หยุดอยู่แค่นี้ ... หยุดอยู่แค่นี้จริงๆ
อิทธิบาท ข้อ 3 จิตตะ (เรียนด้วยสมาธิ)
การที่รู้วิธีเรียน แต่ไม่เริ่มต้นเรียน ก็เพราะไม่มีความรักต่อการเรียนภาษาอังกฤษ แต่ก็มีบางท่านที่ฮึดสู้ กัดฟันว่าจะต้องฟิต ภาษาอังกฤษอย่างจริงๆจังๆ เสียที ณ นาทีที่มีความตั้งใจเช่นนี้เกิดขึ้นและเริ่มต้นเรียน เขาก็อยู่ในชั่วโมงที่จิตเป็นสมาธิ และเรียนด้วยสมาธิ นี่เห็นได้เลยว่า เขาใช้อิทธิบาททั้งหมด 2 ข้อในการเรียนภาษาอังกฤษ คือ อิทธิบาท ข้อ 4 – รู้ว่าต้องเรียนอย่างไร และอิทธิบาท ข้อ 3 – เรียนด้วยใจที่เป็นสมาธิ แต่ก็ยังไม่มีใจรักที่จะเรียนอยู่นั่นเอง
อิทธิบาท ข้อ 2 (ขยันเรียน)
เขารู้วิธีเรียนแล้วตามอิทธิบาท ข้อ 4, เขามีสมาธิในการเรียนตามอิทธิบาทข้อ 3, ถ้าหยุดอยู่แค่นั้น ก็จะเป็นการเรียนแบบไฟไหม้ฟาง คือ นานๆจะขยันสักที และก็ทิ้งไปนาน แต่บางคนก็ใจสู้และก้าวเข้ามาถึงอิทธิบาทข้อ 2 คือมีสมาธิในการเรียนอย่างต่อเนื่อง และไม่เลิกราง่ายๆ คือ ขยัน ท่านเหล่านี้ก็จะได้รับความสำเร็จมากกว่าคนที่มีอิทธิบาทเพียง 2 ข้อ คือ ข้อ 3 กับข้อ 4 เพราะอิทธิบาทข้อ 2 คือความต่อเนื่อง เหมือนหยอดตังค์ใส่กระปุก ถ้าหยอดทุกวันก็จะเต็มเร็ว แต่ถ้านานๆหยอดกันที ก็คงนานกว่าจะเต็ม
อย่างไรก็ตาม ถ้าหยุดอยู่แค่นี้ คือ มีอิทธิบาทข้อ 4 (รู้วิธีเรียน), อิทธิบาทข้อ 3 (เรียนด้วยสมาธิ) และอิทธิบาทข้อ 2 (ขยันเรียน) แต่ขาดอิทธิบาทข้อ 1 คือรักที่จะเรียน สิ่งที่เราเห็นก็คือ ท่านเหล่านี้ก็จะเรียนภาษาอังกฤษอย่างคนอมทุกข์ รำคาญ หงุดหงิด เบื่อ จำใจ ขณะที่เรียน เพราะต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ และมีโอกาสสูงที่จะหยุดขยัน อย่างที่มีสำนวนว่าไว้ “ความอดทนของคนมีขีดจำกัด”
ผมรู้สึกว่า คงมีผู้รู้พูดมามากแล้วว่า ทำอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนรักภาษาอังกฤษ ถ้าผมจะทำอย่างนั้นบ้าง วันนี้ผมก็อาจจะบอกท่านผู้อ่านว่า ให้ทุกท่านทำตามข้อ 1 ถึงข้อ 10 และก็จะเกิดความรักภาษาอังกฤษ แต่เรื่องของเรื่องก็คือว่า เมื่อทุนดิมในใจมันไม่รัก ยังจะมาขอให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้รัก ใครจะไปอยากทำ เหมือนเราชังขี้หน้านาย ก. อย่างมาก แล้วมีคนมาบอกว่าเราควรจะรักนาย ก. และเข้าไปพูดคุยสนิทสนมกับนาย ก. เพราะนาย ก.มีประโยชน์ต่อเรามาก เราก็อาจจะฝืนใจ เข้าไปเจ๊าะแจ๊ะกับนาย ก.บ่อยๆ และเราก็พบว่า นาย ก.มีประโยชน์ต่อเราจริงๆอย่างที่เขาว่าไว้ แต่การที่ต้องเข้าไปสนิทสนมกับนาย ก.นี้ เราต้องอดทนทำด้วยความฝืนใจจึงเป็นทุกข์ และก็อย่างที่เขาพูดกันไว้ “ความอดทนของคนมีขีดจำกัด” ในไม่ช้าเราก็คงหมดความอดทน และไม่ยอมฝืนใจทำอย่างนี้อีก
ด้วยสำนึกเช่นนี้ ผมจึงรีรอที่จะแนะนำท่านผู้อ่านถึงวิธีที่จะทำให้รักภาษาอังกฤษ แม้ผมจะเห็นชัดว่าปัญหาการเกลียดภาษาอังกฤษนี้ ไม่ใช่ปัญหาของเด็กชายสมชาย หรือเด็กหญิงสมศรี ที่มีชื่อซ้ำกันไม่กี่คนในประเทศนี้ แต่มันเป็นปัญหาของคนนับล้านๆคนในประเทศไทย ที่จำเป็นต้องเข้าใจและใช้ภาษาอังกฤษ
พอเขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมก็วางปากกาและนึกว่า สิ่งที่ผมตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะคุยกับท่านผู้อ่าน ผมควรจะคุยแบบไหน จึงจะสื่อความได้เหมือนใจ
*****
วิธีทำใจให้รักภาษาอังกฤษ 2 วิธีที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมเชื่อว่าหลายท่านเคยได้ยินมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ขออนุญาตเอามาสรุปซ้ำก็แล้วกันครับ
1. มองให้เห็นประโยชน์ของภาษาอังกฤษ
พยายามมองบ่อยๆให้จำได้ ให้ระลึกได้โดยอัตโนมัติว่าภาษาอังกฤษมีประโยชน์ต่อเราอย่างไร หรือถ้าไม่เก่งภาษาอังกฤษจะเสียประโยชน์อะไรไป การติดข้อความ หรือภาพ หรือสัญลักษณ์ หรือไอคอน หรืออะไรก็ได้ที่โต๊ะทำงานเพื่อเตือนใจให้เห็นคุณค่าของภาษาอังกฤษอยู่เสมอ ก็อาจจะช่วยให้เปลี่ยนใจมารักภาษาอังกฤษมากขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย
2. ทำอะไรก็ได้ให้ประสบความสำเร็จสักอย่างเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ
ที่ง่ายที่สุดก็เช่น กำหนดเป้าหมายและระยะเวลา ที่จะบรรลุกิจกรรมการศึกษา เช่น ภายในเย็นวันนี้ ภายในสัปดาห์นี้ ภายในสิ้นเดือนนี้ ฉันจะต้องสามารถอ่านบทความที่หมายตาไว้จบ 3 บทความ และรู้เรื่องตลอด, ภายในสิ้นเดือนนี้จะต้องอ่านเรื่องสั้นภาษาอังกฤษจบ 1 เรื่อง หรือ จะต้องอ่าน Bangkok Post หรือ The Nation อย่างน้อยวันละ 1 ข่าว และเข้าใจเนื้อหาโดยตลอด หรือจะต้องฟังข่าวสั้น BBC หรือ CNN ซึ่งยาวประมาณ 5 นาที ทุกวัน จะฟังกี่เที่ยวก็ได้ แต่ต้องให้เข้าใจอย่างน้อย 50% ของเนื้อข่าว หรือจะต้องฝึกเล่าเรื่องเป็นภาษาอังกฤษ ให้ผู้ฟังในมโนภาพฟัง อย่างน้อยวันละ 5 นาที เป็นต้น
การตั้งเป้าหมายและกำหนด Deadline ที่คิดว่าตัวเองสามารถทำได้สำเร็จ และเมื่อทำได้จริงก็จะมีกำลังใจและความรักตามมา ในเรื่องนี้ผมมีข้อแนะนำ 2 ข้อ คือ ให้เป้าหมายที่กำหนดนี้ 1)ไม่ควรยาวหรือยากเกินไป และ 2)เป็นเนื้อหาที่เรารัก เช่น เราชอบข่าวการเมือง กีฬา แฟชั่น นิทาน ฯลฯ ก็ให้เนื้อเรื่องอยู่ในประเภทนี้ การที่เราไม่ชอบภาษาอังกฤษ แต่ชอบเนื้อเรื่อง ก็คงช่วยให้ความรักที่เรามีต่อเนื้อเรื่องถ่ายเทไปสู่ความรักภาษาอังกฤษได้บ้างไม่มากก็น้อย
*****
ท่านผู้อ่านครับ ในช่วง 3 ปีที่ทำบล็อกนี้ ผมค่อย ๆ พบว่า ปัญหาพื้นฐานที่หนักมากๆ ของเด็กไทย หรือคนไทย ในการเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ได้อยู่ที่ครูไม่เก่ง หลักสูตรไม่ดี วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ไม่ทันสมัย ผู้เรียนมีพื้นฐานอ่อน จำศัพท์ได้น้อย หรือเมื่อเรียนผ่านเน็ต ปัญหาใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ที่เน็ตช้า ดาวน์โหลดยาก ไม่ค่อยรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ใช้งานโปรแกรมไม่เป็น ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้เล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาพื้นฐานคือ ไม่รักที่จะเรียนภาษาอังกฤษ หรือ ขาดอิทธิบาทข้อที่ 1 คือ ฉันทะ นั่นเอง
แต่การที่จะทำให้เกิดฉันทะ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าทำได้ง่ายจริง ป่านนี้คนไทยคงรักและเก่งภาษาอังกฤษมากกว่านี้อีกเยอะ และแม้ด้วย 2 วิธีที่ผมแนะนำไว้ข้างต้น คือ มองให้เห็นประโยชน์ของภาษาอังกฤษ และสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นจากความสำเร็จ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า จะทำให้คนที่เกลียดหันมารักภาษาอังกฤษได้เพิ่มขึ้นอีกสักกี่ %
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ตอนนี้ ผมขอชวนท่านผู้อ่านมองภาพกว้างๆอย่างนี้ก่อนแล้วกันครับ แล้วเดี๋ยวเราค่อยกลับมาพูดเรื่องภาษาอังกฤษอีกที
ในชีวิตของคนเรานั้น คงมีทั้งสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ จะให้เรารักทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะไม่ชอบภาษาอังกฤษ ก็เป็นเรื่องปกติ 100% ของคนเรา เพราะเราก็เป็นคนธรรมดา
แต่เรื่องที่ผมอยากจะชี้ก็คือ ณ บัดนี้ ภาษาอังกฤษคือความจำเป็นของคนที่มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยนี้ ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อน จำได้ว่าสมัยที่ผมเรียนจบ ม.ศ.3 และจะขึ้นต่อ ม.ศ.4 นักเรียนรุ่นผม ก็จะถามตัวเองว่า ถนัดสายวิทย์ หรือสายศิลป์ ถ้าสายวิทย์ ก็ไปเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ถ้าสายศิลป์ ก็ไปเรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคม มันคล้ายๆกับว่า ใครที่เลือกสายวิทย์ ไม่มีอะไรที่จะต้องมาเกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษเลย
ต่อมาเมื่อผมเรียนจบและทำงานได้หลายปี และอยู่ในหน่วยงานซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จบมาจากสายวิทย์และเป็นช่าง เจ้าหน้าที่เหล่านี้จำนวนไม่น้อยก็คือคนรุ่นผม ซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษายุคนั้น คือ ไม่ชอบภาษาอังกฤษ
ปัญหาที่ผมเห็นก็คือ วิทยาการทางช่างที่เขาเรียนมาตั้งแต่สมัยโน้น โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งภาษาอังกฤษนั้น บัดนี้หลายส่วนมันล้าสมัย และจำเป็นต้อง update และวิธีการ update ที่ practical ที่สุด ก็คือ การศึกษาด้วยตัวเองที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ท่านผู้อ่านพอจะจินตนาการได้ไหมครับว่า ถ้าความจำเป็นของหลายองค์กรในประเทศไทยในการ update ความรู้ของบุคลากรเป็นเช่นนี้ แต่ก็ทำได้ยากเพราะความอ่อนแอด้านภาษาอังกฤษ คนไทยและประเทศไทยเรา จะแข่งขันกับชาติที่เขาแข็งแรงด้านภาษาอังกฤษไหวหรือครับ
ไม่ใช่แต่คนที่ทำงานด้านช่างเท่านั้น แม้แผนกอื่นๆในองค์กรที่ไม่ใช่ช่าง ความรู้ด้านภาษาอังกฤษก็จำเป็นเช่นกัน ปกติแต่ละองค์กรจะมีแผนกติดต่อกับต่างประเทศ ชื่อว่า ฝ่าย”วิเทศสัมพันธ์”หรือ “International Relations” หรืออะไรทำนองนี้ และทุกอย่างที่องค์กรจะติดต่อกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางธุรกิจ ทางวิชาการ หรืออะไรก็ตาม จะต้องผ่านฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ นี้ เรื่องของเรื่องก็คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์นั้น ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงานขั้นต้น หรือ ตกลงในหลักการกับต่างประเทศเท่านั้น ส่วนเนื้องานจริงๆที่ต้องสัมพันธ์กันนั้น จะต้องให้หน่วยงานภาคปฏิบัติซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องในองค์กรนั้นรับไปทำ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ไม่มีทางที่จะเข้าไปรู้เนื้อหา ศัพท์แสง และรายละเอียดภาคปฏิบัติของทุกหน่วยงานในองค์กร และเมื่อมีการเจรจากัน จะให้ล่ามแปลให้ทุกประโยค ก็เป็นเรื่องที่ไม่ practical อย่างยิ่ง ในกรณีนี้ ท่านผู้อ่านพอจะจินตนาการได้ไหมครับว่า ผลประโยชน์ของบุคคล หรือของหน่วยงาน หรือของประเทศ จะสะดุดมากเพียงใด ถ้าคนไทยขาดความสามารถด้านภาษาอังกฤษอย่างที่ผมเล่ามานี้
ผมขอยกตัวอย่างอีก 2 เรื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้เดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานในระดับอาเซียน และนานาชาติ แทบทุกปี เมื่อเปรียบเทียบทักษะภาษาอังกฤษของเยาวชนไทยกับเยาวชนชาติอื่นๆในภูมิภาคนี้ ไม่ต้องมองไปที่มาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์หรอกครับ เอาแค่อินโดนีเซีย หรือ เวียดนามก็พอ เด็กไทยก็ดูเหมือนจะสู้เขาได้ยาก และในปี 2015 ซึ่งข้อตกลงตาม ASEAN Economic Community จะมีผลบังคับใช้ ทำให้เขตอาเซียนเป็นเขตไร้พรมแดนด้านแรงงาน คนในประเทศอาเซียนอื่นๆก็จะเข้ามาทำงานในเมืองไทยได้ และบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในเมืองไทย ก็สามารถจ้างเขาเหล่านั้นได้ สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าคนไทยยังอ่อนแอด้านภาษาอังกฤษอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เราก็คงจะแย่เพราะถูกแย่งงานในประเทศของเราเอง
ปัญหาที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ทำให้ย้อนกลับไปประเด็นเดิมคือ ทำอย่างไรคนไทย หรือเด็กไทยจึงจะเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้น และทำอย่างไร คนไทยหรือเด็กไทยจึงจะรักภาษาอังกฤษมากกว่าทุกวันนี้
* * * * *
ท่านผู้อ่านครับ ถ้าสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้ท่านอ่านแล้วรู้สึกเหมือนฟังพระเทศน์ ก็ต้องขอประทานอภัยด้วยครับ ผมมิได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นเลย แต่ที่เอามาเล่าก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมใช้ได้ผลด้วยตัวเอง จึงอยากจะเอามาแบ่งปันฉันคนรักชอบพอกัน
ณ จุดนี้ ผมอยากจะบอกว่า ถ้าเราไม่สามารถรักภาษาอังกฤษ ก็อย่าไปรักมันเลยครับ แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรจะเกลียด และเรียนภาษาอังกฤษด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ต้องรักก็ได้ แต่ทำใจให้สงบขณะที่เรียน ถ้าเกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ เบื่อหน่าย ท้อแท้ กังวล หรือความรู้สึกอะไรก็ตามที่เป็นลบ ก็ให้เห็นว่ามันเป็นเพียงสักแต่ว่าความรู้สึก และไม่ต้องไป serious (ภาษาพระเรียกว่า “ยึดมั่นถือมั่น”) กับความรู้สึกลบเหล่านี้
ถ้าเราเรียนภาษาอังกฤษด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกลบที่เกิดขึ้นในใจ แม้จะไม่รัก แต่เราก็จะสามารถเรียนไปได้เรื่อยๆ อย่างได้ผลดีและไม่มีทุกข์ นี่เป็นคำแนะนำของผมต่อทุกท่านที่ไม่รักภาษาอังกฤษ หรือเกลียดภาษาอังกฤษ แต่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยยกระดับการทำงานและคุณภาพชีวิต
การทำใจให้เป็นกลางเช่นนี้ทำยากไหมครับ? ผมเห็นว่า ไม่ว่าจะทำยากหรือทำง่าย ก็น่าจะลองฝึกทำอยู่เรื่อยๆ
ท่านลองสังเกตอย่างนี้ซีครับ ทุกวันเมื่อท่านลุกขึ้นในเวลาตื่นนอนตอนเช้านั้น ความรู้สึกแรกของท่านคือความรู้สึกอะไร เช่น มีความกระตือรือร้นอยากลุกขึ้นไปทำนั่นทำนี่ด้วยความสนุกสนาน ชีวิตช่างเต็มไปด้วยความหวัง หรือว่า เป็นความรู้สึกเบื่อหน่าย เซ็ง วิตกกังวล ซึมเซา เพลีย หงุดหงิด ฯลฯ
ขอให้ฝึกนิสัยที่จะสังเกตความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นเมื่อตื่นนอนตอนเช้า การสังเกตเช่นนี้เป็นความสามารถที่ควรฝึกให้ชำนาญ ถ้าชำนาญแล้วจะมีประโยชน์ต่อชีวิตอย่างยิ่ง
เมื่อสังเกตไปสักระยะหนึ่ง ท่านจะพบว่า ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นในใจของท่านเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ท่านไม่ได้ตั้งใจหรือวางแผนให้มันเกิดขึ้นอย่างนั้น
เรื่องที่ต้องถามก็คือ ท่านยอมให้ความรู้สึกแรกที่เป็นลบจูงท่านออกจากที่นอน และ start กิจกรรมวันนั้นทั้งวัน ด้วยความรู้สึกลบนี้เมื่อท่านออกจากบ้านในตอนเช้า
หรือว่า เมื่อความรู้สึกแรกที่เป็นลบเกิดขึ้นเมื่อตื่นนอน เช่น เบื่ออย่างยิ่งกับงานที่ต้องทำซ้ำๆซากๆอีกแล้วในวันใหม่นี้ หรือ กังวลหนักใจกับสิ่งที่ต้องเจอในวันนี้ หรือร้อนรนอย่างยิ่งกับสิ่งที่มุ่งหวังว่าต้องได้รับในวันนี้ หรือมีบุคคลที่ท่านขุ่นเคืองใจปรากฏในความรู้สึกแรกเมื่อตื่นนอนตอนเช้า
ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น นี่คือการขาดสติประเภทที่ 1 คือ ปล่อยให้ความรู้สึกลบครอบงำใจก่อนออกไปทำงาน
แต่ถ้าท่านรู้สึกว่าความรู้สึกลบที่เกิดขึ้นนี้เป็นของไม่ดี และท่านไม่ต้องการให้ตัวเองรู้สึกเช่นนี้ และก็พยายามที่จะขจัดความรู้สึกเช่นนี้ออกไปจากใจ แต่มันก็ดื้อไม่ยอมออกไปง่ายๆ ท่านจึงออกจากบ้าน โดยมีความรู้สึก 2 อย่าง ต่อสู้กันในใจ คือ ความรู้สึกที่เป็นลบ กับความรู้สึกที่ต้องการขจัดความรู้สึกที่เป็นลบ จึงเป็นการ start ที่ไม่ค่อยดีนักเช่นกัน และนี่คือการขาดสติประเภทที่ 2 คือ ปล่อยให้ความรู้สึกขัดแย้งเกิดขึ้นและครอบงำใจ
ย้อนมาถึงเรื่องการเรียนภาษาอังกฤษที่ผมบอกว่า ขอให้เรียนภาษาอังกฤษด้วยใจที่เป็นกลางเถิดครับ อย่า start การเรียนภาษาอังกฤษด้วยความรู้สึกที่เป็นลบ หรือ start ด้วยความรู้สึกที่ขัดแย้ง ดังตัวอย่างที่ผมพูดเกี่ยวกับความรู้สึกที่ท่านออกจากบ้านไปทำงานตอนเช้า แต่ขอให้เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษด้วยใจที่เป็นกลาง คือ ไม่ว่ามันจะรู้สึกอย่างไร ก็เป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ให้ยอมรับ 100% เลยว่ามีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในใจ โดยไม่ต้องต้อนรับ แต่ก็ไม่ต้องรังเกียจ เมื่อตอนที่มันเข้ามาสู่ใจ เราก็ไม่ได้เชิญมันเข้ามา และมันก็จะออกไปจากใจ โดยเราไม่ได้ขับไล่เช่นกัน การต้อนรับและขับไล่ความรู้สึกที่เป็นลบมีแต่จะทำให้ความรู้สึกลบนั้นอยู่ทนและรุนแรงมากขึ้น เราเพียงยอมรับว่ามันเข้ามา เราเพียงอยู่เฉยๆ ถึงเวลามันก็ออกไปเอง
* * * * *
ผมเป็นคนโชคดีอย่างหนึ่ง คือ ได้เดินทางท่องเที่ยวมาหลายประเทศ มีเพื่อนบางคนถามว่า ชอบประเทศไหนมากที่สุด ผมตอบว่ามีอยู่ 3 ประเทศ จากน้อยไปมาก ดังนี้
1.สวิตเซอร์แลนด์ ผมไป 2 ครั้ง มันมีบรรยากาศของความงดงามที่สะอาด เป็นธรรมชาติ และหรูหรา แต่ไม่ดึงดูดใจเท่าไรนัก
2.นิวซีแลนด์ ผมไป 2 ครั้ง สำหรับผมเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ สวยงามมาก แม้ไม่หรูหรานัก แต่ก็เป็นธรรมชาติที่ดึงดูดใจอย่างยิ่ง แม้ไม่ตระการตาอย่างสวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็ตระการใจมากกว่าหลายเท่า
3.ส่วนประเทศสุดท้ายที่ผมชอบมากที่สุด ชอบมากกว่าสวิตเซอร์แลนด์และนิวซีแลนด์ คือประเทศอินเดีย ผมไปมาทั้งหมด 4 ครั้ง โดยไปแบบแบกเป้เที่ยว ขึ้นยานพาหนะสาธารณะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถบัส รถสามล้อถีบ รถสองแถว แท็กซี่หรือพาหนะส่วนตัว คือเดิน นอนวัดไทย วัดแขก และโรงแรมราคาถูก ผมไม่มีเวลาเขียนเป็นหนังสือท่องเที่ยวขาย แต่เมื่ออ่านหนังสือท่องเที่ยวอินเดียบางเล่มที่มีวางขาย ผมรู้สึกว่าเรื่องที่ผมเจอสนุกกว่า
เพื่อนผมบางคนที่รู้ว่าผมไปอินเดีย 4 ครั้งแล้ว และกะจะไปอีกถ้ามีโอกาส พูดว่า เขาไม่รู้สึกอยากจะไปอินเดียแม้แต่นิดเดียว ทั้งสกปรก ทั้งเหม็น ขอทานก็เยอะ รถก็เบียดเสียดยัดเยียด ไม่ว่าจะเป็นตึกราม บ้านช่อง ผู้คน ถนนหนทาง อาหาร และ ฯลฯ ผมเห็นว่าเขาพูดไม่ผิด เพราะผมก็เจอมาทุกอย่างที่เขาพูด
แต่อินเดียยังมีมากกว่านี้ อินเดียมีความงดงามของอารยธรรมจากอดีตที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน มีความน่ารักของผู้คน มีความรุ่งเรืองของศาสตร์ด้านจิตวิญญาณที่แสดงให้เห็นในสถาปัตยกรรมต่างๆ
อินเดียเป็นทั้งโลกเก่าและโลกใหม่ มี”นรก” ให้เห็น แต่ก็มี “สวรรค์” ให้ชม
การไปเที่ยวอย่างผม บางคนเขาเรียกว่า Sightseeing คือ ผมได้เห็น (see) สิ่งต่างๆ (sight) ทั้งที่สะอาดและสกปรก ทั้งใหม่และเก่า ทั้งที่น่ารื่นรมย์และน่าหดหู่ ผมได้เห็นสองด้านของหลายๆสิ่ง ไม่เหมือนที่สวิตเซอร์แลนด์หรือนิวซีแลนด์ซึ่งผมมักจะเห็นอะไรด้านเดียว
แต่ไม่ว่าผมจะเห็นอะไร ที่ไหน ที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่นิวซีแลนด์ ที่อินเดีย หรือที่ประเทศใดในโลกที่เคยท่องเที่ยวผ่านมา ทุกภาพที่เห็นก็ให้ความรู้ ความรื่นรมย์ ความเพลิดเพลินต่อชีวิตทั้งสิ้น และขณะที่เห็นภาพเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ดูแล้วสนุก เช่น แขกจับงูลงตะกร้า แล้วเป่าปี่ให้กระดกหัวเลื้อยออกมา หรือภาพที่เศร้า เช่น ขอทานนอนข้างทาง และย้ายที่นอนเพื่อหนีแดด หรือภาพอื่นใดก็ตาม ความรู้สึกจากการเห็นภาพเหล่านี้ ก็เป็นแค่ความรู้สึก ผมไม่ได้เป็นทุกข์ไปกับความรู้สึก เพราะทุกภาพและทุกความรู้สึกต่างช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ชีวิต ทำให้ชีวิตมีรสชาติและเนื้อหา ผมได้เรียนรู้ “การปล่อยวาง”จากการท่องเที่ยว
เมื่อกลับมาสู่บรรยากาศเดิมในที่ทำงาน ผมเปรียบเทียบ “sight” ที่ผม “see“ ในที่ทำงาน กับสถานที่และผู้คนในประเทศต่างๆที่ผมเคยผ่านพบ มองเผินๆมันอาจจะต่างกัน แต่ผลที่สะท้อนให้เกิดเป็นความรู้สึกในใจมันเหมือนกัน คือ มันเป็นความรู้สึก รัก – ชัง, สนุก-เบื่อ, มุ่งหวัง-กังวล ฯลฯ มันเป็น Sightseeing ในใจที่เกิดดับ เกิดดับ ตลอดเวลา ผมได้เรียนรู้การปล่อยวางจากการทำงานในที่ทำงาน
* * * * *
เมื่อผมมาทำบล็อกนี้ ผมมุ่งหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่ผมก็รู้ว่าคงเป็นไปได้ยากที่ทุกคนจะรักภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ไม่ได้ชอบภาษาอังกฤษมาแต่เดิม อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทุกคนต่างตระหนักแล้วว่าภาษาอังกฤษคือความจำเป็นของยุคสมัย ผมปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ท่านผู้อ่านทุกท่านซึ่งรวมทั้งท่านที่เกลียดภาษาอังกฤษ ได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการเก่งภาษาอังกฤษ แต่ผมก็ไม่ต้องการให้ใครเรียนภาษาอังกฤษอย่างเป็นทุกข์ แต่อยากให้ทุกคนเรียนภาษาอังกฤษด้วยใจที่เป็นกลาง ปล่อยวาง ซึ่งผมเชื่อว่าการปล่อยวางนี่แหละ จะทำให้เกิดฉันทะ คือ ความรักที่แท้จริงในสิ่งที่ทำ ซึ่งจะตามมาด้วยความสำเร็จ การปล่อยวางคือ Sightseeing, คือเราเพียง see...sight ต่างๆที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งอาจจะเป็นความรู้สึกเบื่อ หรือเกลียดที่จะเรียนภาษาอังกฤษ แต่ sight ก็เป็นสักแต่ว่า sight ความรู้สึกก็เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่มีอะไรต้อง serious ไม่มีอะไรต้องยึดมั่น
ท่านผู้อ่านครับ ผมขออวยพรให้ทุกท่านมีฉันทะ ความรัก และใจที่สงบ – ปล่อยวาง – เป็นกลาง ในการเรียนภาษาอังกฤษ และขอให้ทุกท่านได้รับความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษสมดังตั้งใจ
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ขอขอบพระคุณสำหรับบทความดีๆ ที่ชี้ถึงแก่นของปัญหาพร้อมทั้งวิธีแก้ไขในการเรียนภาษาอังกฤษด้วยใจที่เป็นกลางครับ
ตอบลบ...และขอให้คุณพิพัฒน์เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นด้วยครับ...
ขอขอบคุณ คุณอาพิพัฒน์มากๆเลยค่ะที่คอยมอบสิ่งดีๆเกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้กับเด็กไทย ( โดยเฉพาะหนูเองทีเข้ามาเชคที่เวปนี้ทุกวันว่ามีข้อมูลอัพเดทใหม่ๆมาไหมวันนี้ ) ขอบคุณในความพยามและบทความที่ดีๆ ที่คอยเอามาเตือนให้เด็กไทยได้ตะหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ
ตอบลบ* ขอบคุณมากๆเลยค่ะที่เอา Free record มาให้โหลดบ้านหนูเนทช้า จึงทำให้ไม่สามารถโหลดหนังได้ แต่พอใช้โปรแกรมนี้ และเข้าเวป watch-movies ที่คุณอาเอามาโพสไว้ ตอนนี้ดูดหนังภาษาอังกฤษมาไ้ด้ 3-4 เรื่องแล้วค่ะ มาดูดทุกวันเลยค่ะ
ท้ายนี้หนูขอให้คุณอาพิพัฒน์มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ขอให้มีความเจริญยิ่งๆขึ้นด้วยนะคะ
ฺำBest regard,
Ploy
ขอขอบคุณมากครับสำหรับคำแนะนำในการฝึกฝนภาษาอังกฤษสำหรับผู้เริ่มต้นเพื่อเป็นแนวทางผมจะพยายามตั้งใจศึกษาครับ
ตอบลบขอให้คุณพิพัฒน์ประสบแต่ความสุขความเจริญเพราะได้สรรหาแนวคิดดีๆให้คนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจภาษาอังกษกันมากขึ้น
Boy