สวัสดีครับ
แต่ละวันที่ผมเขียนเรื่องลงบล็อกนี่นะครับ มันก็มีอะไรที่ต่างกันไป เช่น
-เรื่องหาเว็บ: เช่น ผมกะจะหาเว็บเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาแนะนำท่านผู้อ่าน บางวันก็หาเจอ บางวันก็หาไม่เจอ หรือเจอแต่ไม่ดีเท่าที่คาดไว้ แต่บางครั้งก็ได้เว็บที่ดีเกินคาด
-เรื่องเขียน: บางวันผมรู้สึกว่าตัวเองเขียนได้ดีอย่างที่ตั้งใจไว้, บางวันเขียนได้ดีกว่าที่ตั้งใจไว้, แต่บางวันก็ไม่สามารถเขียนได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ก็คือวันนี้แหละครับ ทั้ง ๆ ที่กะไว้แล้วว่าจะเขียนเรื่องอะไร
วันนี้ผมกะจะเขียนเรื่อง “คู่เพี้ยน” และ “คำผวน”
ขอพูดเรื่องที่ 1 ก่อน คือ “คู่เพี้ยน”
เมื่อหลายปีมาแล้วสมัยที่ผมยังทำงานอยู่ที่ภาคอีสาน วันหนึ่งเข้าไปในหมู่บ้านมีหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาคุยกับผม เขาพูดเล่น ๆ ว่า “เอ! ภาษาอีสานกับภาษาอังกฤษนี่น่าจะมาจากต้นตระกูลดียวกัน” ผมแปลกใจและนึกสนุกด้วยจึงถามว่า “รู้ได้ยังไง” เขาตอบว่า “ก็ดูคำว่า ‘วิน’ซี” “เป็นลม” คนอีสานบอกว่า “เป็นวิน” ภาษาอังกฤษ wind ก็แปลว่า ลม ผมชักสนุกเลยถามไปว่า มีคำอื่นอีกไหม เขาบอกว่า มี ก็คือคำว่า เอี่ยน คนอีสานกินเอี่ยน ฝรั่งกินอีล ภาษาอังกฤษ eel แปลว่า ปลาไหล เพราะฉะนั้น จากตัวอย่างนี้แสดงว่า ภาษาอีสานกับภาษาอังกฤษนี่น่าจะมาจากต้นตระกูลเดียวกัน ผมฟังดูแล้วก็หัวเราะและบอกว่า อือ! หรือมันจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ?
คำที่เพื่อนหนุ่มคนนี้ของผมพูด ในภาษาอังกฤษเรียกว่า false friends ซึ่งนอกจากแปลว่า มิตรเทียม (ที่คู่กับ true friends ที่แปลว่ามิตรแท้) แล้ว, false friends ยังมีความหมายว่า a word in a language that looks or sounds similar to a word in another language but means something different. คือคำ ๆ หนึ่งในภาษาหนึ่งที่เขียนหรือออกเสียงคล้ายคำในภาษาอื่น แต่มีความหมายคนละอย่าง ดังตัวอย่างที่เล่า คือ วิน กับ wind, เอี่ยน กับ eel
และที่ผมบอกว่า ผมเขียนไม่ได้อย่างใจคิดก็คือ ผมพยายามหาเว็บหรือลิงค์ที่เขารวบรวมคำ “คู่เพี้ยน” ในภาษาอังกฤษและภาษาไทยที่ออกเสียงคล้ายกันแต่ความหมายคนละอย่าง แต่หาตั้งนานก็หาไม่เจอ นี่เรื่องที่ 1 ที่เขียนไม่ได้อย่างใจในวันนี้
เรื่องที่ 2 ก็คือคำผวน:
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตให้ความหมายของ “คำผวน” ว่า “คำที่พูดทวนกลับได้ เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็น ติดที่อก”
ตัวอย่างที่ยกมานี่ช่างราบเรียบซะเหลือเกิน เพราเราคนไทยจำนวนมากเมื่อพูดถึงคำผวน ก็มีตัวอย่างมากมายในการเล่นคำผวนซึ่งไม่ราบเรียบเหมือนที่ท่านราชบัณฑิตยกตัวอย่าง ผมรู้สึกว่าคำผวนที่มีการเล่นอย่างเป็นงานเป็นการ อย่างเป็นหลักเป็นฐานมากที่สุด ก็คือ สรรพลี้หวน ท่านใดต้องการอ่านฉบับเต็ม
เชิญคลิกครับ
ในอินเตอร์เน็ตนี่ก็มีคำผวนให้อ่านไม่น้อยเลย ถ้าต้องการอ่านก็ เชิญคลิกครับ
แล้วผมก็สงสัยว่า แล้วฝรั่งล่ะเขาเล่นคำผวนกันหรือเปล่า ก็เลยไปที่ Google dictionary และพิมพ์คำว่า คำผวนลงไป ได้คำแปลว่า spoonerism, และเมื่อพิมพ์ spoonerism ลงไป ก็ได้ความหมายเป็นภาษาอังกฤษมาว่า
A spoonerism is a mistake made by a speaker in which the first sounds of two words are changed over, often with a humorous result, for example when someone says `wrong load' instead of `long road'. (spoonerism นั้นเป็น mistake ที่ผู้พูดสลับเสียงแรกของ 2 คำซึ่งเมื่อพูดออกมาแล้วก็น่าขำ เช่น พูด wrong load กลายเป็น long road)
ในสารานุกรม Wikipedia ก็มีคำอธิบายของ spoonerism ให้ไว้อ่าน คลิก
เมื่อผมเคาะแป้นพิมพ์ดีดมาถึงตรงนี้ ผมก็กะจะพิมพ์ต่อไปว่า แต่ผมหาอยู่ตั้งนาน กะจะหาคำผวนที่ง่าย ๆ ฮา ๆ มาเขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านได้สนุกด้วย ก็ยังหาไม่เจอ และ “นี่คือเรื่องที่ 2 ที่เขียนไม่ได้อย่างใจในวันนี้”
แต่ผมก็กลับเจอขึ้นอย่างกะทันหัน 2 เว็บนี้ครับ
[1] http://www.spoonerism-fun.com/ (อย่าลืมคลิกแต่ละหัวข้อที่คอลัมน์ซ้ายมือนะครับ)
[2] http://www.fun-with-words.com/spoon_example.html
ซึ่งมีคำผวนของฝรั่งที่ง่าย ๆ ฮา ๆ หลายอันทีเดียวเช่น
*learning from a book — burning from a look
*go and take a shower - go and shake a tower
*writing and speaking — spiting and reeking
*King's College — Kong's killage
*earning to use it — yearning to lose it
*selecting the course — collecting the sauce
*try if you can — cry if you tan
*you have very bad manners - you have very mad banners
*save the whales - wave the sails
*butterfly - flutter by
* I must send the mail - I must mend the sail
*popcorn - cop porn
*it falls through the cracks - it crawls through the fax
*my lips are zipped - my zips are lipped
* would you like a hazel nut? - would you like a nasal hut?
*Four of Hearts - Whore of farts
และยังมีอีกมากมายครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเว็บที่ [1] ลองเข้าไปดูเถอะครับ อันไหนไม่รู้เรื่องก็อาจจเปิดดิกดูหน่อย ถ้าเปิดดูแล้วก็ยังไม่รู้เรื่องก็ไม่ต้องไปสนใจมัน จำอันที่รู้เรื่องนั่นแหละครับไปคุยกับเพื่อน หรือแทรกในการสนทนากับคนต่างชาติก็ได้ อีกอย่างหนึ่งการจำคำศัพท์จากคำผวนหรือ spoonerism เช่นนี้น่าจะช่วยให้จำได้เร็วและจำได้นานนะครับ
เป็นอันว่าวันนี้ผมค้างท่านผู้อ่านเรื่อง “คู่เพี้ยน” แต่ผมอยากขอให้ท่านผู้อ่านช่วยด้วยครับ คือช่วยส่ง false friends หรือ คู่เพี้ยน พวกนี้ที่ท่านรู้จักให้ผมด้วย ผมจะได้รวบรวมให้อ่านกันเยอะ ๆ สนุกดีครับ
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น