สวัสดีครับ
หนังสือประวัติพระพุทธเจ้าที่ฝรั่งเขียนนั้นมีมากมาย แต่ผมเข้าใจว่าที่เป็นหนังสือขายดีเข้าขั้น bestseller มีไม่มากนัก “Buddha” โดย Karen Armstrong เป็นหนังสือพุทธประวัติเล่มหนึ่งที่เป็น bestseller
นอกจากประโยชน์ที่จะได้รับ คือ reading skillจากการอ่านหนังสือ Buddha ความยาว 187 หน้า และ listening skill จากการฟังmp3 ความยาว 6 ชั่วโมง 32 นาที ผมยังเห็นประโยชน์อย่างอื่นอีกจากการศึกษาพุทธประวัติที่คนแต่งเป็นคนคริสต์ (อดีตแม่ชีคาทอลิก) แต่งเรื่องพุทธให้คนอ่านส่วนใหญ่ที่เป็นชาวคริสต์
ขอขยายความอย่างนี้ครับ พุทธประวัติที่เรารู้จักดีในเมืองไทยส่วนมากที่สุดจะถูกเรียบเรียงและเล่าขานโดยทั้งพระและฆราวาสที่เป็นชาวพุทธ หนังสืออ้างอิงต้นตอก็คือพระไตรปิฎก และเพราะเหตุที่เป็นชาวพุทธที่เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ประวัติที่ถูกเขียนหรือเล่าจึงมักเป็นเพียงเอามาถ่ายถอดต่อ น้อยนักที่จะตีความอย่างโต้แย้งขัดกับมติของอาจารย์โบราณ และถ้ามีท่านใดแต่งเป็นนิยายก็แทบไม่มีเลยที่จะผูกเรื่องด้วยจินตนาการที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า แปลก – ไม่เคยได้ยิน – หรือเป็นไปไม่ได้
แต่ถ้าเป็นพุทธประวัติที่คนแต่งไม่ใช่ชาวพุทธ เนื้อหาหรือนัยะของเรื่องก็อาจจะต่างออกไป มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมไปอบรมที่อินเดียและได้อ่านพุทธประวัติที่แขกฮินดูเขียน มีเยอะจริง ๆ ที่มักจะเหมาว่าพระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระเจ้าชาวแขกองค์ใดองค์หนึ่ง หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นการเอาปรัชญาของฮินดูมาดัดแปลง พออ่านมาก ๆ เข้าผมก็เลยเลิกอ่านพุทธประวัติที่แขกเขียน
ครั้นผมได้อ่านพุทธประวัติที่ฝรั่งเขียนบ้างก็ได้พบแง่มุมที่ต่างออกไปทั้งที่น่าสนใจและไม่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การกล่าวอ้างที่น่าขำที่สุด คือเหมาอย่างแขกว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาพยากรณ์องค์หนึ่งของ God ที่เขานับถือและพยายามพูดตีความให้พุทธศาสนาเป็นส่วนย่อย ๆ ของคริสต์ศาสนาที่ยิ่งใหญ่, นอกจากนี้ฝรั่งก็ยังมองพุทธศาสนาว่าเป็นหลักจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่และพระพุทธเจ้าก็เป็นนักจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง แนวการมองเช่นนี้ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับกันมากแม้แต่ในหมู่คนไทย ทำให้เกิดผลอย่างน้อย 2 อย่าง, อย่างที่ 1 คนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นว่าพุทธศาสนาก็ไม่ได้มีอะไรที่ดีวิเศษมากเกินกว่าจิตวิทยา และลำพังถ้าปฏิบัติให้ถูกหลักจิตวิทยาก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิต และอย่างที่ 2 ที่ตามมาก็คือ มีเรื่องราวมากมายที่จิตวิทยาของฝรั่งเอื้อมมือไปไม่ถึง และคนไทยมากมายที่หยุดอยู่แค่นั้นก็ได้แค่นั้น
ข้อความข้างบนเหมือนผมกำลังจะบอกว่าฝรั่งนั้นสติปัญญาตื้นเขินไม่รู้จักพุทธศาสนาอันล้ำเลิศ มิได้ครับ! ผมมิได้หมายความเช่นนั้นเลย! ผมกำลังจะพูดต่อไปว่า โลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกานั้น บางคนที่ศึกษาจริงเรื่องของพุทธ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อเราอ่านสิ่งที่เขาพูดและเขียน เราอาจจะได้พบมุมมองที่สด – แปลก – ใหม่ ที่เราไม่เคยได้ยินผู้รู้ชาวไทยพูดถึงหรือตีความมาก่อนหรือพูดไว้แต่ก็น้อย เช่น เขาศึกษาประวัติพระพุทธเจ้าจากแหล่งต่าง ๆ ที่มิใช่เพียงจากพระไตรปิฎก และอธิบายให้เห็นภาพที่กว้างขวางขึ้นซึ่งรวมเรื่องสังคม การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ เข้าไปด้วย และการตีความของเขาก็อาจจะต่างหรือถึงขั้นแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อเพราะเขาไม่ได้มีศรัทธาต่อพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานอย่างคนไทย การตีความเช่นนี้อาจจะทำให้เรารับไม่ได้ หรือบางคนอาจถึงขั้นโกรธ หงุดหงิด รำคาญ มันเหมือนกับที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยตีความลักษณะของไม้กางเขนว่า แนวตั้งคือรูปตัว I คือ “ฉัน” ส่วนแนวขวาง คือการตัด “ฉัน” ให้หมดไป คือทำลาย “อัตตา” ให้หมดไป หมดตัวตน เป็นอนัตตา การตีความเช่นนี้ทำให้ชาวคริสต์จำนวนไม่น้อยรับไม่ได้ หรือบางคนอาจถึงขั้นโกรธ หงุดหงิด รำคาญ ได้เช่นกัน
ผมลองอ่านและฟัง Buddha โดย Karen Armstrong ดูแล้วบางตอน ขอสรุปสั้น ๆ อย่างนี้ครับ ถ้าจะเอาประโยชน์ในแง่การฝึกภาษาอังกฤษ ท่านได้แน่ ๆ ครับ ศัพท์หลายคำเราอาจจะไม่คุ้นเคยแต่ขอบอกว่าก็มิใช่ศัพท์ที่สูงเกินไป การรู้ศัพท์พวกนี้จะทำให้เรามีทักษะในการรับรู้เรื่องราวและรสชาติของภาษาที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ส่วนสำเนียงการอ่านก็น่าฟังทีเดียวครับ สำหรับเนื้อเรื่องนั้นน่าสนใจครับ น่าสนใจยังไงขอให้ท่านอ่านเอง-ฟังเองแล้วกันครับ
หนังสือ Buddha ยาวเพียง 187 หน้า (ในหนังสือที่เขาพิมพ์ขาย) และ mp3 ความยาว 6 ชั่วโมง 32 นาที นั้นแบ่งเป็นไฟล์สั้น ๆ 39 ไฟล์ ถ้าท่านฟังวันละไฟล์แค่ประมาณเดือนเดียวก็จบแล้ว
การเรียนภาษาอังกฤษนั้นทุกคนยอมรับแล้วว่าไม่มีวันหยุดต้องเรียนกันไปเรื่อย ๆ แต่มีวิธีการง่าย ๆ วิธีหนึ่งที่ผมขอแนะ ก็คือ พยายาม [1]กำหนดอะไรสักอย่างหนึ่ง [2] สักปริมาณหนึ่ง และ[3]กำหนดช่วงเวลาหนึ่งที่กะว่าจะศึกษาให้เสร็จ อาจจะเป็นเรื่องการฟัง – พูด – อ่าน – เขียน หรือหลายอย่างปนกันก็ได้ เช่น จะใช้เวลาในเดือนนี้อ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบ หรือฟังและพูดตามไฟล์ mp3 ชุดนี้ให้จบ การศึกษาอย่างมี deadline เช่นนี้ จะช่วยให้เราฝึกภาษาอย่างคนที่ให้สัญญากับตัวเอง และถ้าทำได้ไม่ผิดสัญญา ก็จะเกิดการพัฒนาและเป็นกำลังใจให้ตัวเอง
จะเริ่มต้นที่การอ่านและฟัง “Buddha” โดย Karen Armstrong ก็ไม่เลวนะครับ
Buddha by Karen Armstrong
ดาวน์โหลดหนังสือ
อ่านคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ
ดาวน์โหลดไฟล์ mp3
B01- B02 - B03 - B04 - B05 - B06 - B07 - B08 - B09 - B10 - B11 - B12 -B13 - B14 - B15 - B16 - B17 - B18 - B19 - B20 - B21 -B22 - B23 - B24 - B25 - B26 - B27 - B28 - B29 - B30 - B31 - B32 - B33 - B34 - B35 - B36 - B37 - B38 - B39
พิพัฒน์
GemTriple@gmail.com
ขอบคุณมากค่ะสำหรับบทความนี้ จริง ๆ แล้วติดตามอ่านบทความของอาจารย์พิพัฒน์เป็นประจำค่ะ เพราะกำลังเตรียมตัวสอบ IELTS ค่ะ ได้ไอเดียมากมาย ต้องขอบคุณคุณพิพัฒน์เป็นอย่างสูงที่ได้ให้ทานอันยิ่งใหญ่คือความรู้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ถ้าคุณพิพัฒน์ปฏิบัติธรรมด้วยก็ขอให้เจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ แต่บทความนี้ได้จุดประกายอะไรบางอย่างเพราะกำลังสนใจค้นคว้าเรื่องศาสนาพุทธในความคิดชาวฮินดูอยู่ค่ะ จะลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู น่าจะได้ไอเดียอะไรอีกมากนอกเหนือจากที่เราชาวไทยพุทธรู้และคุ้นเคย ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ
ตอบลบKhun Pipat,Thanks very much indeed
ตอบลบfor your numerous generosity.