สวัสดีครับ
ผมกำลังสงสัยว่า แม้หลายชาติ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อินเดีย เป็นต้น จะพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการหรือภาษาประจำชาติ แต่ภาษาอังกฤษของแต่ละชาติมันก็คงจะไม่เหมือนกันเด๊ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายของศัพท์ที่อาจจะแตกต่างกันไปบ้าง หรือสไตล์การผูกประโยคที่อาจจะนิยมไม่เหมือนกัน ผมเคยเข้าไปที่ร้านหนังสือที่นิวซีแลนด์และอินเดีย ก็เห็นดิกชันนารีที่มีชื่อทำนอง New Zealand English Dictionary และ Indian English Dictionary ผมเข้าใจว่าประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ กว่า 80 ประเทศ ก็คงมีลักษณะเฉพาะในการใช้ภาษาอังกฤษของตนเองไม่มากก็น้อย แม้ว่าภาษาอังกฤษจะเป็น international language ก็ตาม และลักษณะเฉพาะนี้ก็คงมีทั้งเรื่องสำนวนและสำเนียง
เมื่อเดือนที่แล้วผมไปที่มาเลเซีย มีอยู่วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินดูหนังสืออยู่ในร้านหนังสือ มีผู้หญิงชาวมาเลเซียคนหนึ่งเข้ามาชวนคุยด้วย คุยกันแล้วได้ความว่าเขาทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เขาถามผมว่าผมใช้ภาษาอังกฤษแบบอังกฤษหรือแบบอเมริกัน ผมก็ตอบว่าผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผมใช้แบบไหน เขาจึงถามผมว่า คัลเลอร์ สะกดยังไง ผมลองแกล้งตอบไปว่า color แกสวนตอบกลับมาอย่างรวดเร็วเลยว่า ผมใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน
เรื่องคนไทยใช้ภาษาอังกฤษแบบไหนนี่ผมว่ามันก็ตอบยากเหมือนกันนะครับ ลองคิดง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ครับ อาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษตามมหาวิทยาลัยก็เรียนจบเอกภาษาอังกฤษมาจากหลายประเทศ แล้วก็คงจะเอาสำเนียงและการใช้ศัพท์ – สำนวน ที่ได้ร่ำเรียนมาสอนลูกศิษย์ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ศิษย์เหล่านี้เมื่อจบออกไปเป็นครูก็เอาสำเนียงและสำนวนจากอาจารย์ไปสอนศิษย์ต่อ ๆ กันไป
ท่านคงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่าตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ฝรั่งที่เข้ามาติดต่อกับไทย เช่น โปรตุเกต ฮอลันดา พูดภาษาอังกฤษตามสไตล์ของเขา และเมื่อบวกกับลิ้นคนไทยที่ไม่คุ้นเคยกับการออกเสียงภาษาฝรั่งมาก่อนเลย จึงมักลากเสียงและความหมายเข้าหาเสียงที่ตนเองคุ้นเคย เช่น คนชื่อ John Crawford ก็ออกเสียงเป็น โยนกาละฟัด คนชื่อ Henry Burney เฮ็นรี่ เบอร์นี่ ก็ออกเสียงเป็น หันแตรบารนี รองเท้า Court shoes ก็ออกเสียงเป็น คัตชู หรือ Coffee ก็ออกเสียงเป็น กาแฟ ถ้าจะอ่านตัวอย่างเพิ่มเติม ก็คลิกที่นี่ครับ
ผมเคยไปเขาคอร์สอบรมสั้น ๆ ที่อินเดีย ก็ได้เห็นว่า คนอินเดียนี่พูดภาษาอังกฤษฟังไม่รู้เรื่องจริง ๆ แต่ดูเหมือนว่าเขายืนยันที่จะพูดตามประสาแขก ๆ อย่างนั้น และก็มีความภูมิใจที่จะพูดอย่างนั้นด้วย
ย้อนกลับมาเมืองไทยบ้าง ผมสังเกตว่าหลายคนไม่อยากจะพูดภาษาอังกฤษถ้าในที่นั้นมีบางคนที่พูดสำเนียงคล้ายฝรั่งมาก ๆ รวมกลุ่มพูดคุยอยู่ด้วย อาจจะเขินหรืออายที่ตัวเองพูดได้ไม่ดีเท่าเขา
ผมจึงอยากจะบอกทุกท่านที่กำลังฝึกพูดภาษาอังกฤษว่า ถ้าหากเรามาเริ่มฟิตที่จะพูดภาษาอังกฤษเมื่อเราโตแล้ว ลิ้นมันแข็งแล้ว ก็ไม่ต้องอายหรอกครับที่จะพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทย ๆ เสียงสระหรือพยัญชนะใดที่เราออกเสียงได้ยาก เช่น r กับ l, v กับ w, th (thought) กับ t (taught) เป็นต้น ถ้าฝึกครั้งแรก ๆ มันพูดยังไงก็ไม่ชัด เมื่อถึงเวลาจะพูดก็พูดออกไปเถอะครับ อย่าปล่อยให้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มาขัดขวางการฝึกพูดของเราเลย เมื่อพูดบ่อย ๆ เข้ามันก็จะค่อย ๆ พูดได้ดีขึ้นเองแหละครับ
โดยส่วนตัว ผมไม่สนใจนักหรอกครับว่าผมจะพูดหรือใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันหรืออังกฤษ เมื่อฝึกฟังข่าว ผมก็ฟังทั้งสำเนียงอเมริกัน คือ CNN และสำเนียงอังกฤษ คือ BBC หรือถ้ามีเวลาก็ฟังสำเนียงญี่ปุ่นด้วย คือ NHK
พูดถึงเรื่องสำเนียงนี่นะครับ ผมว่าเราไม่ต้องไปกังวลว่าเราเชยพูดอังกฤษสำเนียงไทย ๆ เพราะถ้าเราพูดถูกถ้อยคำของการออกเสียง ถึงแม้สำเนียงจะเป็นไทย ๆ ใคร ๆ ทั่วโลกก็ฟังรู้เรื่องทั้งนั้นแหละครับ และท่านเชื่อผมเถอะครับ ถ้าเราฝึกฟังภาษาอังกฤษบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงอเมริกันหรือสำเนียงอังกฤษ การพูดภาษาอังกฤษของเราก็จะดีขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ส่วนมันจะเป็นสำเนียงอะไรก็ช่างมันเถอะครับ
ท่านผู้อ่านเชื่อผมไหมครับว่า คนอังกฤษหรือคนอเมริกันที่ไม่มีประสบการณ์ในการพูดคุยกับคนต่างชาติเลย พวกนี้อาจจะฟังคนชาติอื่นพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องเลยนอกจากฟังคนชาติเดียวกันพูด ผมเคยคุยกับชาวสิงคโปร์ซึ่งเป็นคนจัดการประชุมระดับอาเซียนซึ่งหลายครั้งต้องเชิญคนหลาย ๆ ประเทศมาร่วมประชุมด้วย เขาบอกผมว่าเขาฟังคนพูดภาษาอังกฤษได้ทุกสำเนียง เพราะหูของเขาต้องปรับให้ฟังคนทุกชาติพูดรู้เรื่องไม่ว่าจะเป็นคนเอเชีย แขก แอฟริกา ยุโรป อังกฤษ หรืออเมริกา
ผมยกตัวอย่างข้างบนนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ในขณะที่สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ของโลกใช้ภาษาอังกฤษอยู่แค่ 2 สำเนียง คือ American English และ British English และคนทั่วโลกก็คุ้นเคยกับการฟัง 2 สำเนียงนี้ แต่ในสถานการณ์ที่มีการประขุมหรือการพบปะระหว่างคนหลายชาติ และแต่ละชาติก็พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงของตัวเอง มันก็เป็นเรื่องธรรมดาครับที่แต่ละคนจะต้องพยามยามฟังภาษาอังกฤษสำเนียงหลากหลายให้รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นในขณะที่เราพยายามฟังแขกพูด ฟังคนจากทวีปแอฟริกาพูด หรือพยายามฟังญี่ปุ่นพูดให้รู้เรื่อง คนชาติอื่นก็ต้องพยายามฟังคนไทยพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยให้รู้เรื่องเช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนไทยหรือคนชาติไหนก็ตามจะต้องยอมลงทุนทำ 2 สิ่งนี้ คือ หนึ่ง: ปรับหูของตัวเองเพื่อให้ฟังรู้เรื่อง และ สอง: ปรับปากของตัวเองเพื่อพูดออกไปให้รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดภาษาอังกฤษ จึงไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัว, ไม่ต้องเคร่ง ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้นครับ
ผมจึงขอสรุป 3 ข้อดังนี้ครับ
1. ไม่ต้องอายหรอกครับที่ต้องพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไทย ๆ
2. พยายามฝึกฟังมาก ๆ ทั้งสำเนียงอเมริกัน และอังกฤษ หรือสำเนียงอื่น ๆ ด้วยก็ดีครับถ้ามีเวลา ถ้าท่านสังเกตสักนิด ท่านจะเห็นว่าคนอ่านข่าวของทั้ง CNN และ BBC ก็ไม่ได้มีสำเนียงอเมริกันจ๋าหรืออังกฤษจ๋า แต่เป็นสำเนียงกลาง ๆ ที่คนชาติไหน ๆ ก็ฟังรู้เรื่องได้ไม่ยาก
3. ถ้าเราฝึกฟังมาก ๆ เมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดภาษาอังกฤษ เราจะพูดได้ง่าย เพราะเราฝึกฟังมาเยอะแล้ว และเราก็จะพูดตามที่เราได้ฟังมา มันอาจจะเป็นสำเนียงไทย ปนสำเนียงอเมริกัน แซมด้วยสำเนียงอังกฤษ หรือมันจะเป็นสำเนียงอะไรก็ช่างมันเถอะครับ ถ้าคนฟังเขารู้เรื่องก็ถือว่าใช้ได้ครับ
พิพัฒน์
pptstn@yahoo.com
ขอบคุณมากๆค่ะที่ชาวยไขข้องข้องจเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตอบลบเพราะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่รู้สึกกังวลมากที่สุดแล้วค่ะ
เวลาจะพูดหรือคุยกับเพื่อนฝรั่งจะเกร็งเรื่องนี้มาก แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะ ขอบคุณค่ะ
I absolutely agree with you.
ตอบลบfrom a white rose